วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เล่าเรื่องการศึกษาแนว EP (3)

ตอนสุดท้ายนี้ ดิฉันอยากจะเขียนถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ในอนาคต สำหรับเด็กๆที่เรียนแนว EP  และอินเตอร์  แต่เด็ก EP จะมีโอกาสมากสำหรับการเปลี่ยนแปลง ที่กำลังจะเกิดขึ้นในระบบการศึกษาในประเทศไทย ในความเห็นของดิฉันนะคะ


เท่าที่ดูจากการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาในประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งในระดับโรงเรียนรัฐ และในระดับมหาวิทยาลัย   มหาวิทยาลัยต่างๆ มีการเปิดหลักสูตรนานาชาติมากขึ้น ในคณะที่เป็นที่นิยม และคณะที่จะเติบโตในอนาคต   เพราะคณะใหม่ๆ ที่เป็นที่ต้องการของโลกในตอนนี้  หลายๆคณะ ไม่สามารถสอนได้เป็นภาษาไทย เพราะสร้างบุคลากรครูวิชานี้มาสอนไม่ทัน   แต่หากเป็นเป็นหลักสูตรอินเตอร์ จะหาอจ.ต่างประเทศมาสอนง่ายกว่า     ดังนั้น จะเห็นวิชาแพทย์ วิศวะสาขาต่างๆ  และอื่นๆ เปิดสอนในหลักสูตรอินเตอร์มากขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 7 สาขาวิชา ที่จะเปิดให้ทำงานเสรีในอาเซียน   บุคลากรที่เรียนในหลักสูตรอินเตอร์ จะมีโอกาสหางานได้ทั้งในอาเซียน ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย  

โรงเรียนชั้นนำ และมหาวิทยาลัยต่างๆ จะพร้อมใจกันเปิดหลักสูตร อินเตอร์ มากขึ้น ด้วยสาเหตุหลายประการ คือ การเรียนในหลักสูตรพวกนี้ จะทำให้มีรายได้เข้าสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งได้เป็นกอบเป็นกำ   สามารถใช้ระเบียบพิเศษ ในการจัดจ้างบุคลากรที่มีคุณภาพได้   มีเงินปรับปรุงระบบการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพสากลเพื่อการแข่งขัน  สามารถรองรับนักเรียนจากในประเทศ และต่างประเทศ ที่มีกำลังพร้อมจะจ่าย    ดังนั้น เด็กที่เรียน EP ต่อในระดับมัธยม  ทางเลือกก็จะกว้างขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ โอกาสในการศึกษาต่อในประเทศ  ก็กว้างขึ้น ไม่ใช่ต้องไปเรียนต่างประเทศเสมอไป  

การเรียน EP  และต่อมหาวิทยาลัยหลักสูตรอินเตอร์ในประเทศ ก็เป็นโอกาสที่ดีในการสร้างเครือข่าย เพื่อนฝูง ทีมงาน ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกลุ่มครอบครัวที่ส่งลูกเรียนในหลักสูตรแบบนี้ ก็มักจะเป็นครอบครัวนักธุรกิจในอาเซียนด้วยกัน  ลูกหลานที่จะออกไปรับหน้าที่ ทำกิจการของครอบครัว ที่ต้องทำงานกับทีมงานในประเทศ  หรือ ทีมงานในอาเซียน จะได้ประโยชน์มากกับการเรียนในแบบนี้   เพราะจะได้รู้จักเพื่อนๆที่มีศักยภาพในประเทศอาเซียน ในอนาคต  

จากประสบการณ์ส่วนตัว ที่ดิฉันเคยทำงานในระดับอาเซียน และในระดับ Global ต้องยอมรับว่า ฝรั่งและเอเชีย และประเทศอาเซียน มีพื้นฐานความคิด ความเชื่อ และการทำงานต่างกันมาก  ต่างมีจุดเด่น มีวิธีการทำงานที่ต่างกัน   มันบอกยากว่าอะไรดีกว่ากัน   ในการสอนลูก หรือวางกำลังให้ลูก  จึงต้องมองไกลๆ ว่า ลูกจะมีโอกาสในทางใดบ้าง  สมัยก่อน  หากต้องการให้ลูกทำงานนานาชาติ  เราก็มอง ฝรั่ง อเมริกา ยุโรป หรือ ออสเตรเลีย     หลังๆ ก็มาญี่ปุ่น มาจีนด้วย  เพราะแนวโน้มเทรนด์การทำงานเป็นแบบนั้น   เดี๋ยวนี้ เราต้องมอง ทีมงานภายในด้วย  คู่ค้าด้วย ซึ่งหลังๆนี้ ประเทศอาเซียน ก็เป็นกลุ่มประเทศเนื้อหอม  มีโอกาสในการลงทุน และค้าขาย   การวางกลยุทธ์ในการวางแผนการศึกษาลูก การศึกษาแนว EP จึงกลายเป็นทางเลือกที่มาแรงค่ะ  เพราะมันตอบโจทย์ข้อนี้ได้ดี   จะสังเกตว่า มีเด็กในอาเซียนจำนวนมาก มาเรียนในประเทศของเรามากขึ้น  และส่วนมากก็เป็นลูกหลานของครอบครัวที่มีพื้นฐานที่ด้านอาชีพการงานที่ดีในประเทศของเขา  ดังนั้น การที่ลูกได้เรียน เติบโต เป็นเพื่อนๆกันไป ก็ทำให้สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายทางธุรกิจ และอาชีพการงานได้ 


ผปค.หลายๆท่าน อาจจะคิดว่า มันเป็นความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา เด็กมีโอกาสไม่เท่ากัน มันก็อาจจะจริงค่ะ   แต่อยากให้มองว่า ประเทศชาติ ทุกประเทศ ต้องการเด็กที่มีคุณภาพหลากหลาย เพื่อมาทำหน้าที่ไม่เหมือนกัน   การศึกษาทั่วโลกในปัจจุบัน ก็เปิดกว้างหลายๆทาง  เพื่อตอบโจทย์ของครอบครัวที่ไม่เหมือนกัน และเพื่อรองรับเด็กที่มีทักษะต่างๆกัน    ไม่ว่าลูกของเราจะเรียนในระบบไหน หรือเรียนแบบไหน  ขออย่าได้กังวล นำมาเปรียบเทียบกัน  ขอให้รู้จักข้อดี จุดเด่นของตน  เข้าใจข้อด้อยของเรา  แล้วปรับแก้  สอนลูกให้สมดุล  ที่โรงเรียนอ่อนอะไร  ที่บ้านก็เสริมในส่วนที่ขาด ก็จะไม่มีปัญหาค่ะ   เราอาจจะมีโอกาสส่งลูกเรียนโรงเรียนแพงๆ ไม่ได้ แต่เราก็อาจะปรับเปลี่ยน มาเสริมลูกในส่วนที่เราทำได้้ด้วยตนเอง  เสริมทักษะชีวิต  ให้ลูกมีทักษะพิเศษ  มีวิชาชีพติดตัว ก็เป็นไปได้ค่ะ  อย่าได้กังวลมากเกินไป ว่าเรากำลังเสียเปรียบ  หรืออย่าได้ คิดว่า เรามีเงิน เราได้เปรียบ ก็ไม่ใช่  ความสำเร็จของลูกๆในอนาคต  มันจึงขึ้นอยู่กับพ่อแม่มากกว่า ว่า จะสามารถเสริม หรือ อบรมสั่งสอน ลูกได้ดีเพียงใด ปลูกฝังอะไรในตัวลูกบ้าง ลูกก็ได้แบบนั้น

ให้กำลังใจนะคะ




ไม่มีความคิดเห็น: