มาสู่ กลุ่มคำถามที่ สองต่อ
และอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรต้องพิจารณาสำหรับ EP ในแต่ละสถาบัน EP รร.รัฐ กับ เอกชน จะให้ความแตกต่างกันไม๊คะ
และถ้าชั้นประถมเรียน EP ในชั้นมัธยมจะมีเส้นทาง อย่างไรบ้างคะ ถ้าเรามีจุดหมายให้ลูกเป็นหมอหรือวิศวะ (ณ.ตอนนี้ลูกยังเลือกไม่ได้ค่ะ คิดแค่เอาตามที่พ่อแม่เป็นก่อน ส่วนถ้าอนาคตลูกอยากเป็นไรค่อยแล้วแค่เค้า) หรือว่าต้องกลับมาสู่สายปกติ ถึงจะเข้าเรียนโรงเรียนชั้นนำ อย่างสวนกุหลาบ สาธิตปทุมวัน หรือเตรียมอุดม ได้ และถ้าต้องกลับมาสู่สายปกติ เด็กต้องปรับตัวอย่างไรบ้างคะ เราจะต้องส่งเสริมหรือให้เค้าเรียนเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง
เพื่อนๆจะสังเกตว่า ค่าเล่าเรียน ของการศึกษาแนว EP นั้น มีหลายราคามาก มีทั้งถูกทั้งแพง มาจากหลายสาเหตุ คือ ไส้ในไม่เหมือนกันค่ะ ดังที่ได้เล่าไปบ้างแล้วว่า การศึกษาแนว EP ของแต่ละโรงเรียนนั้น ไม่เท่ากัน บางโรงเรียน เรียนภาษาอังกฤษ 80% บางโรงเรียน ใช้ภาษาอังกฤษ 60% เช่น บางโรงเรียนเรียนทุกวิชาเป็นสองภาษา เอาหลักสูตรไทย มาแปลเป็นภาษาอังกฤษ ตอนเรียนแบ่งกลุ่มเรียน เรียนทั้งไทย ทั้งอังกฤษ โดยสลับกลุ่ม สลับครู คนละครึ่งในทุกวิชา บางโรงเรียน ระบุเลย ว่า วิชาไหนจะเรียนเป็นภาษาอังกฤษ โดยไม่ต้องเรียนวิชานั้นเป็นภาษาไทย หรือ จะเรียนไทยเฉพาะวิชาไหนบ้าง
สิ่งที่แตกต่างอีกอย่าง คือ มาตรฐานของครู เพราะราคาค่าตัวของครูต่างชาตินั้น แตกต่างกัน ครูที่มีวุฒิครู จบปริญญาโท ครูฝรั่ง Native Speaker ค่าตัวเดือนนึง เป็นแสนบาท แต่หากใช้ครูที่ไม่ต้องมีวุฒิครู ไม่กำหนดวุฒิว่าต้องปริญญาโท เป็นครูเอเชียก็ได้ ค่าตัวก็เป็นหลักหมื่นก็พอ ดังนั้น ทำให้ต้นทุนการเรียนสอน แตกต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับว่า ใช้ครูเกรดไหนมาสอน
ขนาดของห้องเรียน ในการเรียนการสอนนั้น ต้องดูว่าห้องนึง มีนักเรียนกี่คน ครูกี่คน หากนักเรียนเยอะ ครูน้อย ต้นทุนก็ไม่สูง ค่าเล่าเรียนก็ไม่แพงนักได้ หากห้องเรียนขนาดเล็ก จำนวนเด็กต่อครูไม่มาก ต้นทุนก็สูงไปด้วย
อีกปัจจัยนึงที่ทำให้แตกต่าง ก็คือ ระยะเวลาที่เคยเปิดการเรียนการสอน การปรับเปลี่ยนการเรียนมาเป็นระบบ EP หรือ เพิ่มระบบ EP กว่าจะเข้าที่ก็ใช้เวลาลองผิด ลองถูกหลายปี หากโรงเรียน มีประวัติการเรียนการสอนแบบ EP มาหลายปี มีการสร้างนักเรียนที่เรียนจบมาแล้วหลายๆรุ่น ทางโรงเรียนจะพอเห็นคุณภาพ หรือปัญหาของการเรียนการสอน โรงเรียนที่เปิดหลักสูตร EP มาใหม่ๆ ก็อาจจะไม่เห็นปัญหาเหล่านั้น โดยเฉพาะปัญหาของบุคลากร ที่ลาออกบ่อย เปลี่ยนงานบ่อย เพราะมีการแย่งตัวกันสูงมาก การเรียนการสอนจะไม่คอยราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมัธยม เพราะการเรียนวิชาเฉพาะทาง เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์ จะหาครูต่างชาติ ที่เก่งเฉพาะทางได้ยากมากค่ะ ดังนั้น เด็กต้องช่วยตัวเองสูงมาก ในการสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง หากเรียนหลักสูตรไทย จะหาครูเฉพาะทางได้ง่ายกว่า หรือเรียนโรงเรียนอินเตอร์ เค้าก็จะมีศักยภาพในการหาคนตามหลักสูตรของเค้า จากประเทศของเค้ามาสอน แต่ละวิชาในระบบของเค้าอยู่แล้ว ซึ่งทำให้ค่าเล่าเรียนโรงเรียนอินเตอร์แพงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมัธยมเป็นต้นไป หลายๆแห่ง ปีละครึ่งล้าน เป็นต้นไป
ดังนั้นพ่อแม่ที่ส่งลูกเรียน EP ในปัจจุบันนี้ หลายๆครอบครัว จำนวนไม่น้อย มักจะเปลี่ยนสายการเรียนให้ลูก ในชั้น มัธยม เพราะในเวลานั้น จะค่อนข้างชัดเจน ว่าลูกจะถนัดในทางไหน และเชื่อว่าพื้นฐานภาษาอังกฤษของลูกก็ดีพอสมควรแล้ว พ่อแม่ที่คิดว่าลูกจะไปเรียนในต่างประเทศ ก็จะย้ายไปเรียนอินเตอร์ เพื่อปรับระบบการเรียนของลูก ให้เป็นฝรั่งมากขึ้น คือ กล้าคิด กล้าพูด แสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง อภิปราย และเรียนรู้ค้นคว้าด้วยตนเอง ทำรายงานเป็นภาษาอังกฤษ พ่อแม่ที่คิดว่าลูกจะไปเรียนในมหาวิทยาลัยของไทย ก็จะย้ายลูกมาเรียนในระบบไทย หรือ จะเรียนในระบบ EP ต่อไปก็ได้ แต่ต้องเสริมในบางเรื่อง
การที่เด็กจะย้ายไปเรียนโรงเรียนวิชาการชั้นนำ ในชั้นมัธยม ก็เป็นธรรมดาที่พ่อแม่และเด็กๆ ต้องเสริม ในชั้นประถมปลาย เป็นอย่างน้อย คงต้องเรียนติวค่ะ เพราะการแข่งขันสูงมาก ลองไปซื้อคู่มือ แนวข้อสอบมาดู จะเห็นว่า สิ่งที่ข้อสอบออก กับโรงเรียนสอนนี่จะคนละทิศละทางมาก ดังนั้น หากจะให้ลูกสอบเข้าโรงเรียนพวกนี้ คงต้องเรียนเสริม ยกเว้น เราจะมีปัญญาสอนลูกทำข้อสอบแนวพวกนี้
อยากบอกว่า ระบบการเรียนของเมืองไทย ไม่ว่าจะเรียนโรงเรียนแบบไหน วิชาการหรือไม่ EP แปลไทยเป็นอังกฤษ หรือเปล่า การเรียนตามหลักสูตร มันไม่ยากนะคะ เพราะมันเป็นแบบ "มาตรฐานต่ำ" คนที่เรียนเก่ง สอบได้ที่หนึ่งในโรงเรียน ไม่ใช่ว่า จะเป็นคนเก่ง ในสนามสอบในระดับประเทศ เพราะข้อสอบในโรงเรียน เป็นข้อสอบ ที่มีความยากในระดับ 2-3 เป็นอย่างมาก ในขณะที่ข้อสอบเข้าพวกนี้ หรือสนามสอบระดับประเทศ เป็นข้อสอบ ที่ยากระดับ 3-5 หรือ 6 เพราะเค้าจะคัดเฉพาะหัวกะทิ เข้าไปเรียน เด็กๆที่สอบโรงเรียนเหล่านี้ จึงต้องหาที่เรียน ที่สอนให้ทำโจทย์ระดับนั้นได้
ดิฉันไม่ได้บอกว่ามันดีหรือไม่ แต่โครงสร้างการศึกษาประเทศไทย หลักสูตรไทยเป็นแบบนี้ จึงต้อง เข็นลูกเป็นบ้าเป็นหลัง กันขนาดนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น