วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เลี้ยงลูกให้รู้จักพอเพียง ..ไม่เป็นทาสของเงิน

เลี้ยงลูกให้รู้จักพอเพียง ..ไม่เป็นทาสของเงิน
มาดูตัวอย่างดีๆเช่น > กฎเหล็ก7ประการของยีน ชาทสกี


ยีน ชาทสกี เป็นนักเขียนชื่อดังของอเมริกา และบรรณาธิการสายการเงินประจำรายการ NBC's Today Show ที่ทุ่มเทมาทั้งชีวิตเพื่อค้นหาคำตอบว่า ทำไมเด็กยุคใหม่ ถึงไร้วินัยทางการเงิน และไม่รู้จักคำว่าพอเพียง

กฎเหล็ก 7 ประการของ ยีน ชาทสกี


กฎข้อที่ 1 สอนลูกให้เลือกสิ่งที่ดีที่สุด และเลือกให้เป็น การตัดสินใจเลือกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ต้องทำ ในชีวิตนี้เราต้องเลือกระหว่างอะไรกับอะไรสักอย่างเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกระหว่างไอแพต 2กับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค หรือระหว่างบ้านหลังใหญ่ย่านชานเมือง กับคอนโดฯหรูใจกลางเมือง การสอนลูกให้รุ้จักตัดสินใจเลือกอย่างถูกต้อง จะต้องปลูกฝังตั้งแต่ยังแบเบาะจนถึง 2 ขวบ เพื่อสอนให้รู้ว่าไม่ใช่ว่าอยากได้อะไรแล้วต้องได้ตามใจไปซะทุกอย่าง เทคนิคสร้างทักษะการเลือกที่ถูกต้องให้ลูก ควรเริ่มจากการฝึกลูกให้เลือกระหว่างของ 2 อย่าง จากนั้นค่อยเพิ่มจำนวนเป็น 3-4 อย่าง ถ้าลูกเลือกแล้วและรบเร้าอยากเปลี่ยนใจ พ่อแม่ต้องห้ามใจอ่อนเด็ดขาด เพราะจะสร้างนิสัยไม่ดีให้ลูก ต้องปลูกฝังให้ลูกรู้จักการเลือกและตัดสินใจด้วยตัวเอง ที่สำคัญต้องแฮปปี้กับการตัดสินใจ ไม่ใช่ว่าพอได้ของเล่นชิ้นหนึ่งมาแล้ว ก็ลงดิ้นกับพื้นร่ำร้องอยากได้ของเล่นชิ้นใหม่ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะกลายเป็นคนบ้าช็อปปิ้ง ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า โดยไม่รู้จักคุณค่าของเงิน


กฎข้อที่ 2 กติกาต้องเป็นกติกา เข้มงวดอย่างมีเหตุผล และเลิกตามใจลูก ผลสำรวจของ แดน คายด์ลอน ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บ่งชี้ว่าเด็กที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางการเลี้ยงดูที่เข็มงวดของพ่อแม่ และครอบครัวที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด มีแนวโน้มที่จะไม่ออกนอกลู่นอกทาง เมื่อเทียบกับลูกเศรษฐีที่ถูกตามใจมาตั้งแต่เกิด ลองใช้เทคนิคหักเงินทุกครั้งเมื่อลูกไม่ทำตามกติกา หรือลงโทษลูกด้วยวิธีอื่นๆเช่นห้ามดูทีวี


กฏข้อที่ 3 กำหนดเงินค่าขนมตายตัว เพื่อฝึกให้ลูกบริหารเงินด้วยตัวเอง สำหรับพ่อแม่ที่ไม่กล้าปฏิเสธลูก การกำหนดเงินค่าขนมตายตัวอาจอยาก เพราะเมื่อลูกรบเร้าอยากได้โน่นได้นี่ พ่อแม่จำนวนมากก็มักใจอ่อนซื่อให้ทุกที ลองเริ่มต้นด้วยการกำหนดเงินค่าขนมเป็นอาทิตย์และค่อยเพิ่มภาระเป็นรายเดือน วิธีนี้จะทำให้เด็กเห็นคุณค่าของเงิน และรู้จักวางแผนการใช้เงินของตัวเอง เด็กหลายคนยอมอดขนม เพื่อเก็บเงินไว้ซื่อของเล่น เพราะฉะนั้นพ่อแม่ไม่ควรนำเรื่องเงินค่าขนมมาโยงกับการบังคับให้ลูกช่วยทำงานบ้าน


กฎข้อที่ 4 สอนลูกให้รู้จักการรอคอย ปลูกฝังให้ลูกรู้ว่าการได้อะไรมายาก ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจมากกว่าการได้อะไรมาง่ายๆ พ่อแม่ที่ดีควรส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้ที่จะเก็บเงิน เพื่อซื้อของที่ต้องการ เช่นถ้าลูกอยากซื้อคอมพิวเตอร์ราคาแพง ในขณะที่มีค่าขนมเพียงอาทิตย์ละไม่กี่ร้อยบาท สิ่งที่พ่อแม่จะช่วยได้ก็คือ ทุกครั้งที่ลูกหยอดกระปุกออมสิน คุณพ่อคุณแม่ควรสมทบเงินในอัตราที่เท่ากันให้ลูก นอกจากการรวบรวมเงินออมทั้งหมดที่สะสมมาได้จากการช่วยงานพิเศษภายในบ้าน เมื่อทำแบบนี้แล้ว เด็กย่อมจะเห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง


กฏข้อที่ 5 สนับสนุนให้ลูกทำงานพิเศษ ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่สุดในการสอนลูกให้มีความรับผิดชอบ พ่อแม่อาจเริ่มต้นด้วยการจ้างลูกให้ทำงานพิเศษภายในบ้าน เช่นล้างรถ เลี้ยงน้อง เมื่อลูกได้ลิ้มลองรสชาติของการหาเงินได้เอง และอยากได้ข้าวของที่มีราคาแพงเกินกว่ารายได้พิเศษในบ้าน พวกเขาก็จะออกไปหางานพิเศษทำนอกบ้าน อย่าโวยวายเด็ดขาด ถ้าจู่ๆลูกจะขอไปทำงานนอกบ้าน


กฏข้อที่ 6 สอนลูกให้รู้จักคุณค่าของเงิน เด็กๆรู้จักใช้เงินเป็น ก็ตั้งแต่พวกเขานับเงินเป็นแล้ว แต่เรื่องที่ยากยิ่งกว่าคือ ทำยังไงถึงจะสอนให้พวกเขารู้จักคุณค่าของเงิน มีทิปง่ายๆสำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ เมื่อไหร่ที่ลูกร่ำร้องอยากได้ของเล่น ลองทดสอบลูกว่าของเล่นที่อยากได้สำคัญระดับไหน ตั้งแต่ 1-5 โดยทั่วไปแล้วเด็กทุกคนมักตอบว่า สำคัญที่สุดเป็นอันดับ 5 จากนั้นทิ้งเวลาไว้สักอาทิตย์หนึ่ง แล้วค่อยกับมาถามลูกใหม่ การทำอย่างนี้สม่ำเสมอจะช่วยให้พวกเขาพัฒนาศักยภาพในการตัดสินใจด้วยตัวเอง และรู้ว่าควรใช้เงินอย่างไรให้คุ้มค่า


กฏข้อที่ 7 เป็นตัวอย่างที่ดีของลูก จงอย่าเหนียวหนี้ พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีของลูก โดยเฉพาะเรื่องวินัยการเงิน เริ่มต้นง่ายๆจากการจ่ายค่าขนมให้ลูกตรงเวลา อย่าเพาะนิสัยเหนียวหนี้ให้พวกเขาเห็น มิฉะนั้นพวกเขาก็จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่เหนียวหนี้ เมื่อพูดคำไหนก็ต้องคำนั้น พ่อแม่ต้องเข้มงวดกับกติกาที่กำหนดไว้ ไม่ใช่ตัวเองยังทำผิดคำพูดอยู่บ่อยๆแล้วนับประสาอะไรจะบังคับลูกได้

จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์
24มิ.ย56

วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วิธีการปฏิบัติของพ่อแม่ที่จะมีลูกฉลาด





ความฉลาดของลูกมาจากฝีมือพ่อแม่ล้วนๆ ^_^

นักวิจัยชาวต่างประเทศ ได้ทำการศึกษาวิธีการปฏิบัติของพ่อแม่ที่จะมีลูกฉลาด หลายพันคนเพื่อจะดูว่าลักษณะของพ่อแม่แบบไหนที่จะเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กฉลาดได้ สรุปได้ลักษณะออกมาดังนี้

1. ตอบคำถามลูกด้วยความอดทน และจริงใจ
2. เอาใจใส่คำถามของลูก
3. มีกระดานสำหรับแสดงผลงานของลูก
4. ยอมรับความรกรุงรังของบริเวณที่ลูกกำลังทำงานสร้างสรรค์
5. จัดห้องส่วนตัวให้ลูก

6. แสดงความรักลูกในฐานะลูกมิใช่จากผลงานของลูก
7. ให้ลูกมีความรับผิดชอบตามวัย
8. ช่วยลูกให้รู้จักวางแผนและตัดสินใจเอง
9. พาลูกไปชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ
10. สอนลูกให้รู้จักทำหน้าที่ให้ดีขึ้น

11. ให้ลูกคบกับเด็กทุกชนชั้น
12. กำหนดมาตรฐานพฤติกรรมของลูกอย่างมีเหตุผล
13. ไม่เปรียบเทียบลูกกับลูกคนอื่น
14. ไม่ลงโทษลูกด้วยการวางเฉยเมย
15. มีของเล่นและหนังสือให้ลูก

16. ส่งเสริมให้ลูกคิดด้วยตัวเอง
17. อ่านหนังสือให้ลูกฟัง
18. ฝึกนิสัยรักการอ่านให้ลูก
19. ส่งเสริมให้ลูกสร้างเรื่องและคิดฝัน ตามแบบของเขา
20. พิจารณาความต้องการของลูกอย่างรอบคอบ

21. มีเวลาให้กับลูก
22. ให้ลูกมีส่วนร่วมในการวางแผนไปเที่ยวด้วย
23. ไม่เยาะเย้ยลูกเมื่อทำผิด
24. ส่งเสริมให้ลูกจดจำเรื่องราวคำประพันธ์และเพลงต่าง ๆ
25. ให้ลูกได้เข้าสังคมกับคนทุกวัย

26. สอนให้ลูกทดลองปฏิบัติด้วยตัวเอง เพื่อช่วยลูกให้ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ
27. ให้ลูกเล่นวัสดุเหลือใช้ที่เขาสนใจ
28. ให้ลูกได้พบปัญหา และแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
29. ชมลูกเมื่อทำกิจกรรมที่ดี
30. ไม่ชมลูกอย่างพร่ำเพรื่อ ทั้ง ๆ ที่ใจจริงไม่อยากชม

31. มีความจริงใจทางด้านอารมรมณ์กับลูก
32. คุยกับลูกได้ทุกเรื่อง
33. ให้โอกาสลูกได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง
34. ส่งเสริมลูกให้เป็นตัวของตัวเอง
35. ช่วยลูกหารายการโทรทัศน์ที่มีประโยชน์

36. ส่งเสริมให้ลูกคิดในแง่ดีเกี่ยวกับความสามารถของตัวเอง
37.ไม่บอกปัดความล้มเหลวของลูกโดยพูดว่า "พ่อแม่เองก็ทำไม่ได้"
38.ไม่ให้ลูกพึ่งผู้ใหญ่เท่าที่จะทำได้
39.เชื่อว่าลูกมีความรู้สึกดีและไว้วางใจ
40. ยอมให้ลูกทำผิดพลาด ดีกว่าพ่อแม่เข้าไปช่วยทำแทน

จากวิธีปฏิบัติ 40 ข้อนี้ สรุปว่าพ่อแม่พร้อมที่จะเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กฉลาดนั้น จะมีข้อปฏิบัติอยู่ในระหว่าง 25-35 ข้อ

ฉะนั้นเราลองมาตรวจสอบตัวเราเองจากข้อปฏิบัติเหล่านี้ดูว่า เราได้ปฏิบัติกับลูกของเราเป็นประจำได้กี่ข้อ และข้อใดบ้างที่ยังปฏิบัติน้อยหรือยังไม่ได้ปฏิบัติ

เราจะได้ ฝึกหัดหัวข้อเหล่านั้นให้มากขึ้น เพื่อช่วยส่งเสริมลูกให้ฉลาดได้ตามที่เรามุ่งหวังไว้

เครดิต http://dnfe5.nfe.go.th/ilp/41003/41003-04-2.htm

ขอบคุณข้อมูลจาก FB  คุณ การศึกษาทางเลือกวิทยาศาสตร์ โดยพ่อสะพานฟ้า

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เล่าเรื่องการศึกษาแนว EP (3)

ตอนสุดท้ายนี้ ดิฉันอยากจะเขียนถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ในอนาคต สำหรับเด็กๆที่เรียนแนว EP  และอินเตอร์  แต่เด็ก EP จะมีโอกาสมากสำหรับการเปลี่ยนแปลง ที่กำลังจะเกิดขึ้นในระบบการศึกษาในประเทศไทย ในความเห็นของดิฉันนะคะ


เท่าที่ดูจากการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาในประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งในระดับโรงเรียนรัฐ และในระดับมหาวิทยาลัย   มหาวิทยาลัยต่างๆ มีการเปิดหลักสูตรนานาชาติมากขึ้น ในคณะที่เป็นที่นิยม และคณะที่จะเติบโตในอนาคต   เพราะคณะใหม่ๆ ที่เป็นที่ต้องการของโลกในตอนนี้  หลายๆคณะ ไม่สามารถสอนได้เป็นภาษาไทย เพราะสร้างบุคลากรครูวิชานี้มาสอนไม่ทัน   แต่หากเป็นเป็นหลักสูตรอินเตอร์ จะหาอจ.ต่างประเทศมาสอนง่ายกว่า     ดังนั้น จะเห็นวิชาแพทย์ วิศวะสาขาต่างๆ  และอื่นๆ เปิดสอนในหลักสูตรอินเตอร์มากขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 7 สาขาวิชา ที่จะเปิดให้ทำงานเสรีในอาเซียน   บุคลากรที่เรียนในหลักสูตรอินเตอร์ จะมีโอกาสหางานได้ทั้งในอาเซียน ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย  

โรงเรียนชั้นนำ และมหาวิทยาลัยต่างๆ จะพร้อมใจกันเปิดหลักสูตร อินเตอร์ มากขึ้น ด้วยสาเหตุหลายประการ คือ การเรียนในหลักสูตรพวกนี้ จะทำให้มีรายได้เข้าสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งได้เป็นกอบเป็นกำ   สามารถใช้ระเบียบพิเศษ ในการจัดจ้างบุคลากรที่มีคุณภาพได้   มีเงินปรับปรุงระบบการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพสากลเพื่อการแข่งขัน  สามารถรองรับนักเรียนจากในประเทศ และต่างประเทศ ที่มีกำลังพร้อมจะจ่าย    ดังนั้น เด็กที่เรียน EP ต่อในระดับมัธยม  ทางเลือกก็จะกว้างขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ โอกาสในการศึกษาต่อในประเทศ  ก็กว้างขึ้น ไม่ใช่ต้องไปเรียนต่างประเทศเสมอไป  

การเรียน EP  และต่อมหาวิทยาลัยหลักสูตรอินเตอร์ในประเทศ ก็เป็นโอกาสที่ดีในการสร้างเครือข่าย เพื่อนฝูง ทีมงาน ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกลุ่มครอบครัวที่ส่งลูกเรียนในหลักสูตรแบบนี้ ก็มักจะเป็นครอบครัวนักธุรกิจในอาเซียนด้วยกัน  ลูกหลานที่จะออกไปรับหน้าที่ ทำกิจการของครอบครัว ที่ต้องทำงานกับทีมงานในประเทศ  หรือ ทีมงานในอาเซียน จะได้ประโยชน์มากกับการเรียนในแบบนี้   เพราะจะได้รู้จักเพื่อนๆที่มีศักยภาพในประเทศอาเซียน ในอนาคต  

จากประสบการณ์ส่วนตัว ที่ดิฉันเคยทำงานในระดับอาเซียน และในระดับ Global ต้องยอมรับว่า ฝรั่งและเอเชีย และประเทศอาเซียน มีพื้นฐานความคิด ความเชื่อ และการทำงานต่างกันมาก  ต่างมีจุดเด่น มีวิธีการทำงานที่ต่างกัน   มันบอกยากว่าอะไรดีกว่ากัน   ในการสอนลูก หรือวางกำลังให้ลูก  จึงต้องมองไกลๆ ว่า ลูกจะมีโอกาสในทางใดบ้าง  สมัยก่อน  หากต้องการให้ลูกทำงานนานาชาติ  เราก็มอง ฝรั่ง อเมริกา ยุโรป หรือ ออสเตรเลีย     หลังๆ ก็มาญี่ปุ่น มาจีนด้วย  เพราะแนวโน้มเทรนด์การทำงานเป็นแบบนั้น   เดี๋ยวนี้ เราต้องมอง ทีมงานภายในด้วย  คู่ค้าด้วย ซึ่งหลังๆนี้ ประเทศอาเซียน ก็เป็นกลุ่มประเทศเนื้อหอม  มีโอกาสในการลงทุน และค้าขาย   การวางกลยุทธ์ในการวางแผนการศึกษาลูก การศึกษาแนว EP จึงกลายเป็นทางเลือกที่มาแรงค่ะ  เพราะมันตอบโจทย์ข้อนี้ได้ดี   จะสังเกตว่า มีเด็กในอาเซียนจำนวนมาก มาเรียนในประเทศของเรามากขึ้น  และส่วนมากก็เป็นลูกหลานของครอบครัวที่มีพื้นฐานที่ด้านอาชีพการงานที่ดีในประเทศของเขา  ดังนั้น การที่ลูกได้เรียน เติบโต เป็นเพื่อนๆกันไป ก็ทำให้สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายทางธุรกิจ และอาชีพการงานได้ 


ผปค.หลายๆท่าน อาจจะคิดว่า มันเป็นความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา เด็กมีโอกาสไม่เท่ากัน มันก็อาจจะจริงค่ะ   แต่อยากให้มองว่า ประเทศชาติ ทุกประเทศ ต้องการเด็กที่มีคุณภาพหลากหลาย เพื่อมาทำหน้าที่ไม่เหมือนกัน   การศึกษาทั่วโลกในปัจจุบัน ก็เปิดกว้างหลายๆทาง  เพื่อตอบโจทย์ของครอบครัวที่ไม่เหมือนกัน และเพื่อรองรับเด็กที่มีทักษะต่างๆกัน    ไม่ว่าลูกของเราจะเรียนในระบบไหน หรือเรียนแบบไหน  ขออย่าได้กังวล นำมาเปรียบเทียบกัน  ขอให้รู้จักข้อดี จุดเด่นของตน  เข้าใจข้อด้อยของเรา  แล้วปรับแก้  สอนลูกให้สมดุล  ที่โรงเรียนอ่อนอะไร  ที่บ้านก็เสริมในส่วนที่ขาด ก็จะไม่มีปัญหาค่ะ   เราอาจจะมีโอกาสส่งลูกเรียนโรงเรียนแพงๆ ไม่ได้ แต่เราก็อาจะปรับเปลี่ยน มาเสริมลูกในส่วนที่เราทำได้้ด้วยตนเอง  เสริมทักษะชีวิต  ให้ลูกมีทักษะพิเศษ  มีวิชาชีพติดตัว ก็เป็นไปได้ค่ะ  อย่าได้กังวลมากเกินไป ว่าเรากำลังเสียเปรียบ  หรืออย่าได้ คิดว่า เรามีเงิน เราได้เปรียบ ก็ไม่ใช่  ความสำเร็จของลูกๆในอนาคต  มันจึงขึ้นอยู่กับพ่อแม่มากกว่า ว่า จะสามารถเสริม หรือ อบรมสั่งสอน ลูกได้ดีเพียงใด ปลูกฝังอะไรในตัวลูกบ้าง ลูกก็ได้แบบนั้น

ให้กำลังใจนะคะ




เล่าเรื่องการศึกษาแนว EP (2)

มาสู่ กลุ่มคำถามที่ สองต่อ


และอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรต้องพิจารณาสำหรับ EP ในแต่ละสถาบัน EP รร.รัฐ กับ เอกชน จะให้ความแตกต่างกันไม๊คะ
และถ้าชั้นประถมเรียน EP ในชั้นมัธยมจะมีเส้นทาง อย่างไรบ้างคะ ถ้าเรามีจุดหมายให้ลูกเป็นหมอหรือวิศวะ (ณ.ตอนนี้ลูกยังเลือกไม่ได้ค่ะ คิดแค่เอาตามที่พ่อแม่เป็นก่อน ส่วนถ้าอนาคตลูกอยากเป็นไรค่อยแล้วแค่เค้า) หรือว่าต้องกลับมาสู่สายปกติ ถึงจะเข้าเรียนโรงเรียนชั้นนำ อย่างสวนกุหลาบ สาธิตปทุมวัน หรือเตรียมอุดม ได้ และถ้าต้องกลับมาสู่สายปกติ เด็กต้องปรับตัวอย่างไรบ้างคะ เราจะต้องส่งเสริมหรือให้เค้าเรียนเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง


เพื่อนๆจะสังเกตว่า ค่าเล่าเรียน ของการศึกษาแนว EP นั้น มีหลายราคามาก มีทั้งถูกทั้งแพง มาจากหลายสาเหตุ คือ ไส้ในไม่เหมือนกันค่ะ ดังที่ได้เล่าไปบ้างแล้วว่า การศึกษาแนว EP ของแต่ละโรงเรียนนั้น ไม่เท่ากัน บางโรงเรียน เรียนภาษาอังกฤษ 80% บางโรงเรียน ใช้ภาษาอังกฤษ 60% เช่น บางโรงเรียนเรียนทุกวิชาเป็นสองภาษา เอาหลักสูตรไทย มาแปลเป็นภาษาอังกฤษ ตอนเรียนแบ่งกลุ่มเรียน เรียนทั้งไทย ทั้งอังกฤษ โดยสลับกลุ่ม สลับครู คนละครึ่งในทุกวิชา บางโรงเรียน ระบุเลย ว่า วิชาไหนจะเรียนเป็นภาษาอังกฤษ โดยไม่ต้องเรียนวิชานั้นเป็นภาษาไทย หรือ จะเรียนไทยเฉพาะวิชาไหนบ้าง

สิ่งที่แตกต่างอีกอย่าง คือ มาตรฐานของครู เพราะราคาค่าตัวของครูต่างชาตินั้น แตกต่างกัน ครูที่มีวุฒิครู จบปริญญาโท ครูฝรั่ง Native Speaker ค่าตัวเดือนนึง เป็นแสนบาท แต่หากใช้ครูที่ไม่ต้องมีวุฒิครู ไม่กำหนดวุฒิว่าต้องปริญญาโท เป็นครูเอเชียก็ได้ ค่าตัวก็เป็นหลักหมื่นก็พอ ดังนั้น ทำให้ต้นทุนการเรียนสอน แตกต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับว่า ใช้ครูเกรดไหนมาสอน

ขนาดของห้องเรียน ในการเรียนการสอนนั้น ต้องดูว่าห้องนึง มีนักเรียนกี่คน ครูกี่คน หากนักเรียนเยอะ ครูน้อย ต้นทุนก็ไม่สูง ค่าเล่าเรียนก็ไม่แพงนักได้ หากห้องเรียนขนาดเล็ก จำนวนเด็กต่อครูไม่มาก ต้นทุนก็สูงไปด้วย

อีกปัจจัยนึงที่ทำให้แตกต่าง ก็คือ ระยะเวลาที่เคยเปิดการเรียนการสอน การปรับเปลี่ยนการเรียนมาเป็นระบบ EP หรือ เพิ่มระบบ EP กว่าจะเข้าที่ก็ใช้เวลาลองผิด ลองถูกหลายปี หากโรงเรียน มีประวัติการเรียนการสอนแบบ EP มาหลายปี มีการสร้างนักเรียนที่เรียนจบมาแล้วหลายๆรุ่น ทางโรงเรียนจะพอเห็นคุณภาพ หรือปัญหาของการเรียนการสอน โรงเรียนที่เปิดหลักสูตร EP มาใหม่ๆ ก็อาจจะไม่เห็นปัญหาเหล่านั้น โดยเฉพาะปัญหาของบุคลากร ที่ลาออกบ่อย เปลี่ยนงานบ่อย เพราะมีการแย่งตัวกันสูงมาก การเรียนการสอนจะไม่คอยราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมัธยม เพราะการเรียนวิชาเฉพาะทาง เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์ จะหาครูต่างชาติ ที่เก่งเฉพาะทางได้ยากมากค่ะ ดังนั้น เด็กต้องช่วยตัวเองสูงมาก ในการสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง หากเรียนหลักสูตรไทย จะหาครูเฉพาะทางได้ง่ายกว่า หรือเรียนโรงเรียนอินเตอร์ เค้าก็จะมีศักยภาพในการหาคนตามหลักสูตรของเค้า จากประเทศของเค้ามาสอน แต่ละวิชาในระบบของเค้าอยู่แล้ว ซึ่งทำให้ค่าเล่าเรียนโรงเรียนอินเตอร์แพงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมัธยมเป็นต้นไป หลายๆแห่ง ปีละครึ่งล้าน เป็นต้นไป


ดังนั้นพ่อแม่ที่ส่งลูกเรียน EP ในปัจจุบันนี้ หลายๆครอบครัว จำนวนไม่น้อย มักจะเปลี่ยนสายการเรียนให้ลูก ในชั้น มัธยม เพราะในเวลานั้น จะค่อนข้างชัดเจน ว่าลูกจะถนัดในทางไหน และเชื่อว่าพื้นฐานภาษาอังกฤษของลูกก็ดีพอสมควรแล้ว พ่อแม่ที่คิดว่าลูกจะไปเรียนในต่างประเทศ ก็จะย้ายไปเรียนอินเตอร์ เพื่อปรับระบบการเรียนของลูก ให้เป็นฝรั่งมากขึ้น คือ กล้าคิด กล้าพูด แสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง อภิปราย และเรียนรู้ค้นคว้าด้วยตนเอง ทำรายงานเป็นภาษาอังกฤษ พ่อแม่ที่คิดว่าลูกจะไปเรียนในมหาวิทยาลัยของไทย ก็จะย้ายลูกมาเรียนในระบบไทย หรือ จะเรียนในระบบ EP ต่อไปก็ได้ แต่ต้องเสริมในบางเรื่อง

การที่เด็กจะย้ายไปเรียนโรงเรียนวิชาการชั้นนำ ในชั้นมัธยม ก็เป็นธรรมดาที่พ่อแม่และเด็กๆ ต้องเสริม ในชั้นประถมปลาย เป็นอย่างน้อย คงต้องเรียนติวค่ะ เพราะการแข่งขันสูงมาก ลองไปซื้อคู่มือ แนวข้อสอบมาดู จะเห็นว่า สิ่งที่ข้อสอบออก กับโรงเรียนสอนนี่จะคนละทิศละทางมาก ดังนั้น หากจะให้ลูกสอบเข้าโรงเรียนพวกนี้ คงต้องเรียนเสริม ยกเว้น เราจะมีปัญญาสอนลูกทำข้อสอบแนวพวกนี้

อยากบอกว่า ระบบการเรียนของเมืองไทย ไม่ว่าจะเรียนโรงเรียนแบบไหน วิชาการหรือไม่ EP แปลไทยเป็นอังกฤษ หรือเปล่า การเรียนตามหลักสูตร มันไม่ยากนะคะ เพราะมันเป็นแบบ "มาตรฐานต่ำ" คนที่เรียนเก่ง สอบได้ที่หนึ่งในโรงเรียน ไม่ใช่ว่า จะเป็นคนเก่ง ในสนามสอบในระดับประเทศ เพราะข้อสอบในโรงเรียน เป็นข้อสอบ ที่มีความยากในระดับ 2-3 เป็นอย่างมาก ในขณะที่ข้อสอบเข้าพวกนี้ หรือสนามสอบระดับประเทศ เป็นข้อสอบ ที่ยากระดับ 3-5 หรือ 6 เพราะเค้าจะคัดเฉพาะหัวกะทิ เข้าไปเรียน เด็กๆที่สอบโรงเรียนเหล่านี้ จึงต้องหาที่เรียน ที่สอนให้ทำโจทย์ระดับนั้นได้

ดิฉันไม่ได้บอกว่ามันดีหรือไม่ แต่โครงสร้างการศึกษาประเทศไทย หลักสูตรไทยเป็นแบบนี้ จึงต้อง เข็นลูกเป็นบ้าเป็นหลัง กันขนาดนี้







เล่าเรื่องการศึกษา แนว EP (1)

มีอยู่กระทู้นึง มีคำถามที่น่าสนใจ  และเป็นคำถามที่พ่อแม่ผปค. ตั้งคำถามมากมาย ก่อนเลือกสายการศึกษา เส้นทางการเรียนให้กับลูก  จึงอยากขอยกคำถามว่าตอบใน บล็อกนี้ เพราะเชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในคำถามที่ต้องตอบ ซ้ำซากไม่รู้จบ อีกหลายปี



คุณพ่อคุณแม่ และผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายคะ มีความคิดเห็นอย่างไรกับ EP บ้างคะเด็กๆที่เรียน program นี้ เค้าจะได้รับความรู้มากเท่ากับเด็กที่เรียนสายปกติ หรือเด็กที่เรียน inter ไปเลย รึเปล่าคะ

ในแง่ของภาษา เด็ก EP เข้าใจภาษาไทย ได้ลึกซึ้งเหมือนเด็กสายปกติ หรือไม่คะและในทางกลับกัน ภาษาอังกฤษของเด็ก EP สามารถใช้งานได้จริงเหมือนเด็ก inter หรือไม่คะ
และอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรต้องพิจารณาสำหรับ EP ในแต่ละสถาบัน EP รร.รัฐ กับ เอกชน จะให้ความแตกต่างกันไม๊คะ
และถ้าชั้นประถมเรียน EP ในชั้นมัธยมจะมีเส้นทาง อย่างไรบ้างคะ ถ้าเรามีจุดหมายให้ลูกเป็นหมอหรือวิศวะ (ณ.ตอนนี้ลูกยังเลือกไม่ได้ค่ะ คิดแค่เอาตามที่พ่อแม่เป็นก่อน ส่วนถ้าอนาคตลูกอยากเป็นไรค่อยแล้วแค่เค้า) หรือว่าต้องกลับมาสู่สายปกติ ถึงจะเข้าเรียนโรงเรียนชั้นนำ อย่างสวนกุหลาบ สาธิตปทุมวัน หรือเตรียมอุดม ได้ และถ้าต้องกลับมาสู่สายปกติ เด็กต้องปรับตัวอย่างไรบ้างคะ เราจะต้องส่งเสริมหรือให้เค้าเรียนเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง
ปล. ถ้าคุณพ่อคุณแม่ที่เลือกสายปกติให้ลูก มีแนวทางอย่างไรในการส่งเสริมภาษาอังกฤษที่ต่อไปจะมีความสำคัญมากๆให้กับลูกๆคะ

อยากบอกว่า เส้นทางการศึกษา ในระดับอนุบาล ไปจนถึงมหาวิทยาลัย ของประเทศไทยนั้น เปิดกว้าง และมีทางเลือกพอสมควร  แม้เราจะบ่นๆกัน ว่าระบบการศึกษาของประเทศไทยนั้น มีปัญหา มันก็มีปัญหาส่วนมาก อยู่ในระบบการศึกษา ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ  ยิ่งใช้หลักสูตรของไทยมากเท่าไหร่ ปัญหาก็มากขึ้นเท่านั้น    หากหลักสูตรของสถาบันการศึกษา ไม่ใช้ของกระทรวง ก็จะปัญหาน้อยค่ะ   ดังนั้น โรงเรียนดีๆ ระบบดีๆ ในเมืองไทย ก็มีค่ะ  แต่ "แพง"  ผปค. ต้องเข้าใจ และยอมจ่าย  เพราะแต่ละเส้นทาง มันมีข้อดีและข้อเสีย ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน


คำถามแรก...คือ  พ่อแมที่ส่งลูกเรียนอินเตอร์  พ่อแม่ที่ส่งลูกเรียน EP  พ่อแม่ที่ส่งลูกแนวทางเลือก หรือ พ่อแม่ที่ส่งลูกเรียนโรงเรียนแนววิชาการ  หรือ แม้แต่พ่อแม่โฮมสคูล  มีความเชื่อ มีทฤษฎีด้านการศึกษาแตกต่างกันค่ะ  และหาแนวทางการศึกษา ที่มาตอบโจทย์ที่ไม่เหมือนกัน  จึงเกิดแนวการศึกษาที่แตกต่างกันมากมาย หลายๆทางแบบทุกวันนี้

ดังนั้น ก่อนที่พ่อแม่จะเลือกว่า ลูกจะเรียนในแนวใดดี นอกจากจะสำรวจเงินในกระเป๋าของตัวเอง  งบประมาณ  ต้องดูอีกหลายอย่าง เช่น เวลาที่เราจะทุ่มเทให้ลูก มีมากน้อยเพียงใด   สิ่งที่คุณคาดหวังในการศึกษาและอนาคต มีมากน้อยเพียงใด    เช่น  อยากให้ลูกแกร่งวิชาการ ก็คงต้องเลือกอย่างนึง  อยากให้ลูกเก่งภาษาอังกฤษ ก็ต้องเลือกอีกอย่าง  อยากให้เก่งภาษาไทย ก็อีกแบบ อยากให้ลูกเรียนตามศักยภาพ ก็อีกแบบ   เพราะไม่มีทางเลือกใดที่สามารถตอบโจทย์ทุกแบบได้ เพราะแต่ละทางเลือก มีวิธีการ ต้องใช้บุคลากรที่แตกต่างกัน

พ่อแม่ที่ให้ลูกเรียนแนว EP หรือ เรียนอินเตอร์นั้น  สิ่งแรกคือ พ่อแม่มีความต้องการให้ลูกคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ ตั้งแต่เล็กๆ  มีการใช้ภาษาอังกฤษในห้องเรียน ในโรงเรียน  ข้อแตกต่างของการเรียน EP กับ อินเตอร์นั้น  ก็คือ สังคมของเด็ก  โรงเรียน EP ส่วนมาก จะเป็นครอบครัวไทย  ซึ่งเด็กๆก็จะชินในการพูดคุยภาษาไทยกับเพื่อนๆ   ดังนั้น ทักษะการพูด ก็จะช้ากว่า การเรียน ในอินเตอร์ ซึ่งเป็นสังคมต่างประเทศมากกว่า  ยิ่งโรงเรียนที่มีเด็กต่างชาติมากๆ  เด็กๆก็จะพูดภาษาอังกฤษมาก เพราะต้องสื่อสารกับเพื่อน    แต่ในแง่ทักษะ การฟัง เด็ก EP ก็จะพัฒนาได้ดีพอสมควร เพราะต้องฟัง ต้องเรียนเป็นภาษาอังกฤษทุกวัน   ส่วนทักษาการอ่าน และการเขียนนั้น  การเรียนอินเตอร์ ระบบการศึกษาของเค้า จะเน้นเรื่องการอ่าน และการเขียน ตั้งแต่เด็กๆ  มากกว่า การเรียนคณิตศาสตร์ หรือวิชาพวกสังคม ภาษาไทย  หรือพุทธศาสนา  วิชาเหล่านี้จะไม่มีในหลักสูตรอินเตอร์  เค้าจึงเน้นการเรียนไปที่การอ่าน การเขียน และกิจกรรมเรียนรู้ด้วยการปฎิบัติ     ในขณะที่ EP ยังต้องเรียนวิชา "บ้าๆบอ" พวกนี้  ทักษะการอ่าน การเขียน และการลงมึอปฎิบัติ จะสู้โรงเรียนอินเตอร์ไม่ได้ โดยสิ้นเชิง

พ่อแม่ที่ให้ลูกเรียนแนวทางเลือก หรือ โฮมสคูลนั้น  เรื่องความรู้ด้านวิชาการ ก็จะเป็นไปตามศักยภาพเด็ก ดังนั้น ทักษะการอ่าน การเขียน หรือ วิชาการนั้น จะพูดยากค่ะ หลากหลาย บางคนก็เร็วมาก บางคนก็ไม่ไปไหน  เพราะพ่อแม่เน้นต่างกัน   แต่เด็กในโรงเรียนหรือ การศึกษาแนวพวกนี้ จะมีทักษะชีวิตที่ดี ช่วยเหลือตัวเองได้ดี   เรียนรู้ด้วยการปฎิบัติ  มีความรู้รอบตัว  บางบ้าน เน้นเรียนเป็นภาษาอังกฤษ  ก็ได้ภาษาที่ดีมาก


พ่อแม่ที่ให้ลูกเรียนแนว EP นั้น สาเหตุนึงที่เลือกแม้ว่าภาษาจะสู้อินเตอร์ไม่ได้  ก็คือ เรื่องของสังคม มรรยาท และนิสัยของเด็ก การเรียนในโรงเรียนอินเตอร์ ยิ่งมีสังคมต่างชาติสูง เด็กๆจะซึมซับวัฒนธรรมต่างชาติหลายๆอย่าง  และเมื่อเรียนๆไป บุคลิกนิสัย ก็จะต่างกับเด็กไทยค่อนข้างชัดเจน  ซึ่งต่างชาติก็อาจจะมีบางอย่างที่ "ไม่ถือ"  หรือไม่ให้ความสำคัญ  ในขณะที่สังคมของเราให้ความสำคัญมาก   หรือ อาจจะมีบางอย่างที่เค้าถือมาก  แต่ประเทศเราเละๆเทะๆ ก็มี   เด็กที่เรียนแนวอินเตอร์ ส่วนมากก็จะไปเรียนต่างประเทศ ทำงานในสังคมต่างประเทศ เพราะเข้าใจ เข้าขากันมากกว่า  แต่พ่อแม่ที่ให้ลูกเรียนแนว EP หลายๆครอบครัว ก็เห็นความจำเป็นที่ลูกจะต้องเข้าใจคนไทย  เข้าใจวัฒนธรรมไทย  เพราะอาจจะต้องกลับเข้ามาทำงานกับทีมงานไทย  หรือลูกค้าในเมืองไทย ต่อไป จำเป็นต้องเข้าใจ ต้องยอมรับ หรือมีเครือข่าย หรือมีพื้นฐานเครือข่าย เพื่อนฝูงในเมืองไทยบ้าง  ดังนั้น พ่อแม่จึงเลือกเส้นทางนี้ เพราะตอบโจทย์มากกว่า


ดังนั้น จึงสรุปคำถามกลุ่มแรกว่า เด็กที่เรียน EP นั้น ความรู้ภาษาอังกฤษ เท่าเด็กอินเตอร์ไม๊   ก็ไม่เท่าค่ะ   มีความรู้ภาษาไทย เท่ากับเด็กที่เรียนภาคไทยไม๊  ก็ไม่เท่าอีกเหมือนกัน  วิชาการเท่ากันไม๊  ก็ไม่เท่าค่ะ  เพราะเด็กอินเตอร์ ก็เรียนหลักสูตรอินเตอร์  วิธีการเรียนการสอนก็ไม่เหมือนของไทย  ตำราก็ไม่เหมือนกัน เด็กอินเตอร์  จะเน้นให้เด็กคิด และเรียนรู้ด้วยการปฎิบัติ  และถกประเด็นให้แตกฉาน   แต่หลักสูตรไทย เน้นท่องจำ  เรียนในสิ่งที่มีในตำรา     ส่วนของ EP นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า เค้าใช้ตำราแบบไหน หลักสูตรแบบไหนในการเรียน  ซึ่งแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกันดังที่เล่ามาแล้ว  เด็กเหล่านี้ เรียนออกมาเก่งคนละอย่าง มีจุดอ่อนคนละด้าน  เพื่อจุดประสงค์คือ สร้างเด็กออกมา ที่มีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน








วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ป้องกันลูกถูกลักพาตัวมีวิธีอย่างไร ...โดย พญ. สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ


หากลูกหายไป ย่อมเป็นฝันร้ายที่สุดของพ่อแม่ ต่อไปนี้ คือ ข้อพึงระวัง เพื่อช่วยให้ลูกปลอดภัย

- อย่าให้ลูกใส่เสื้อผ้า หรือหมวกที่มีชื่อติดอยู่ เพราะจะทำให้ผู้ร้ายเรียกชื่อลูกได้อย่างถูกต้อง เป็นการทำให้เด็กไว้ใจ ให้เขียนชื่อไว้ด้านในของเสื้อผ้า ไม่ให้เห็นโดยง่าย

- สอนให้ลูกรู้ว่า ผู้ร้ายมาได้ทุกรูปแบบ อาจเป็นคนที่ดูเป็นมิตร เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ ให้สอนลูกให้รู้ว่า คนไหนเป็นคนไม่แปลกหน้า นอกนั้นที่เหลือ คือ คนแปลกหน้า

- สอนให้ลูกรู้จักชื่อจริงของตัวเอง อายุ เบอร์โทรศัพท์ บ้านเลขที่

- สอนวิธีโทรศัพท์ทางไกลผ่านโอเปอเรเตอร์ แบบเรียกเก็บเงินปลายทาง

- สอนวิธีติดต่อพ่อแม่ หรือญาติ ในกรณีฉุกเฉิน หรือ ติดต่อเพื่อนบ้านที่ไว้ใจได้ วิธีโทรหาตำรวจ รถดับเพลิง หรือ รถพยาบาล ในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือดังกล่าว

- หากลูกอยู่บ้านคนเดียว ถ้ามีคนโทรมา สอนลูกให้ตอบไปว่า พ่อแม่อยู่บ้าน แต่กำลังยุ่ง มารับสายไม่ได้

- หากลูกอยู่บ้านคนเดียว ถ้ามีคนมา อย่าเปิดประตู ให้บอกว่าพ่อแม่กำลังยุ่งอยู่ ให้คนแปลกหน้ากลับไปก่อนแล้วค่อยมาใหม่ สอนลูกว่าอย่าพูดคุยกับคนแปลกหน้ายืดเยื้อ ถ้าลูกกลัว ให้โทรหาคุณที่ทำงาน หรือ ตำรวจ หรือ เพื่อนบ้านที่ไว้ใจได้ เพื่อจะได้มีคนมาที่บ้านได้ทันที

- สอนให้ลูกรู้จักขออนุญาตพ่อแม่ทุกครั้งก่อนที่จะรับของขวัญจากคนแปลกหน้า

- สอนให้ลูกวิ่งกลับบ้านทันที หรือ ไปบ้านเพื่อนบ้าน หรือ วิ่งไปในที่มีคนอยู่เยอะๆ หากมีคนแปลกหน้าเดินเข้ามาหา หรือ ทำให้ลูกกลัว ขณะที่ลูกกำลังอยู่คนเดียว

- หากมีคนขับรถตามลูกขณะลูกเดินอยู่ ให้ลูกวิ่งกลับไปในทางเดิม เพราะรถจะเสียเวลาวกรถกลับ อาจทำให้เลิกติดตาม แต่ถ้ายังติดตามอยู่ให้วิ่งกลับบ้าน ไปบ้านเพื่อนบ้าน หรือไปในที่มีคนอยู่เยอะๆ และควรสอนให้ลูกหัดจำลักษณะของคนขับ ลักษณะของรถ และหมายเลขทะเบียนรถ

- สอนลูกว่า ถ้ามีผู้ใหญ่มาขอความช่วยเหลือจากเด็ก ให้รีบบอกพ่อแม่ ครู หรือผู้ใหญ่คนอื่นมาช่วยเหลือแทน เพราะผู้ร้ายอาจแฝงมาทำทีเป็นขอความช่วยเหลือจากเด็กก็ได้

- ถ้าลูกพลัดจากพ่อแม่ในห้างสรรพสินค้า ให้ลูกตรงไปขอความช่วยเหลือจากพนักงานขาย หรือพนักงานเก็บเงิน

- ตำรวจในเครื่องแบบเป็นบุคคลที่ลูกไว้ใจ และขอความช่วยเหลือได้หากลูกมีปัญหา จึงไม่ควรขู่ลูกให้กลัวตำรวจ

ข้อมูลจาก พญ. สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ^.^

วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

40 วิธีปฏิบัติเพื่อให้ลูกฉลาด



นักวิจัยชาวต่างประเทศ ได้ทำการศึกษาวิธีการปฏิบัติของพ่อแม่ที่จะมีลูกฉลาด หลายพันคนเพื่อจะดูว่าลักษณะของพ่อแม่แบบไหนที่จะเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กฉลาดได้ สรุปได้ลักษณะออกมาดังนี้ 


1. ตอบคำถามลูกด้วยความอดทน และจริงใจ 

2. เอาใจใส่คำถามของลูก 

3. มีกระดานสำหรับแสดงผลงานของลูก 

4. ยอมรับความรกรุงรังของบริเวณที่ลูกกำลังทำงานสร้างสรรค์ 

5. จัดห้องส่วนตัวให้ลูก 

6. แสดงความรักลูกในฐานะลูกมิใช่จากผลงานของลูก 

7. ให้ลูกมีความรับผิดชอบตามวัย 

8. ช่วยลูกให้รู้จักวางแผนและตัดสินใจเอง 

9. พาลูกไปชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ

10. สอนลูกให้รู้จักทำหน้าที่ให้ดีขึ้น 

11. ให้ลูกคบกับเด็กทุกชนชั้น 

12. กำหนดมาตรฐานพฤติกรรมของลูกอย่างมีเหตุผล 

13. ไม่เปรียบเทียบลูกกับลูกคนอื่น 

14. ไม่ลงโทษลูกด้วยการวางเฉยเมย 

15. มีของเล่นและหนังสือให้ลูก 

16. ส่งเสริมให้ลูกคิดด้วยตัวเอง

17. อ่านหนังสือให้ลูกฟัง 

18. ฝึกนิสัยรักการอ่านให้ลูก 

19. ส่งเสริมให้ลูกสร้างเรื่องและคิดฝัน ตามแบบของเขา 

20. พิจารณาความต้องการของลูกอย่างรอบคอบ 

21. มีเวลาให้กับลูก 

22. ให้ลูกมีส่วนร่วมในการวางแผนไปเที่ยวด้วย 

23. ไม่เยาะเย้ยลูกเมื่อทำผิด 

24. ส่งเสริมให้ลูกจดจำเรื่องราวคำประพันธ์และเพลงต่าง ๆ 

25. ให้ลูกได้เข้าสังคมกับคนทุกวัย 

26. สอนให้ลูกทดลองปฏิบัติด้วยตัวเอง เพื่อช่วยลูกให้ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ 

27. ให้ลูกเล่นวัสดุเหลือใช้ที่เขาสนใจ 

28. ให้ลูกได้พบปัญหา และแก้ปัญหาด้วยตัวเอง 

29. ชมลูกเมื่อทำกิจกรรมที่ดี 

30. ไม่ชมลูกอย่างพร่ำเพรื่อ ทั้ง ๆ ที่ใจจริงไม่อยากชม 

31. มีความจริงใจทางด้านอารมรมณ์กับลูก 

32. คุยกับลูกได้ทุกเรื่อง 

33. ให้โอกาสลูกได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง 

34. ส่งเสริมลูกให้เป็นตัวของตัวเอง 

35. ช่วยลูกหารายการโทรทัศน์ที่มีประโยชน์

36. ส่งเสริมให้ลูกคิดในแง่ดีเกี่ยวกับความสามารถของตัวเอง 

37.ไม่บอกปัดความล้มเหลวของลูกโดยพูดว่า "พ่อแม่เองก็ทำไม่ได้" 

38.ไม่ให้ลูกพึ่งผู้ใหญ่เท่าที่จะทำได้ 

39.เชื่อว่าลูกมีความรู้สึกดีและไว้วางใจ 

40. ยอมให้ลูกทำผิดพลาด ดีกว่าพ่อแม่เข้าไปช่วยทำแทน


จากวิธีปฏิบัติ 40 ข้อนี้ สรุปว่าพ่อแม่พร้อมที่จะเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กฉลาดนั้น จะมีข้อปฏิบัติอยู่ในระหว่าง 25-35 ข้อ ฉะนั้นเราลองมาตรวจสอบตัวเราเองจากข้อปฏิบัติเหล่านี้ดูว่า เราได้ปฏิบัติกับลูกของเราเป็นประจำได้กี่ข้อ และข้อใดบ้างที่ยังปฏิบัติน้อยหรือยังไม่ได้ปฏิบัติ เราจะได้ ฝึกหัดหัวข้อเหล่านั้นให้มากขึ้น เพื่อช่วยส่งเสริมลูกให้ฉลาดได้ตามที่เรามุ่งหวังไว้

จาก http://dnfe5.nfe.go.th/

ขอบคุณเพื่อนจาก FB คุณ Cat JMC  ที่ช่วยแชร์มาให้นะคะ