วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

"โก๊ะ" ฝึกยอมแพ้ ก่อนรู้จักชัยชนะ

มีโอกาสเหินฟ้าตามอาศรมสยาม-จีนวิทยา บมจ.ซีพี ออลล์ ไปดูการแข่งขันหมากล้อมจีนโลก (โก๊ะจีนโลก) ชิงถ้วยเหยียนหวงเปย์ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2553 ระหว่างวันที่ 19-22 กันยายน ณ เมืองเซ่าซิง มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน งานนี้มีทั้งคนไทยคนไทยและชาวจีนจากทั่วโลกกว่า 80 คนเข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าการแข่งขันในครั้งนี้คนไทยติดอันดับที่ 8
     หมากล้อมหรือโก๊ะมีต้นกำเนิดที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อกว่า 3,000 ปีมาแล้ว โดยถือเป็นศิลปะหนึ่งในสี่แขนงของจีน ได้แก่ การดีดพิณ การเดินหมากกระดาน การเขียนพู่กัน และการวาดรูป ซึ่งหมากกระดานก็คือ "หมากล้อม" มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่าโก๊ะ นอกจากจะเป็นศิลปะแล้วหมากล้อม ยังครอบคลุมถึงศาสตร์แขนงต่างๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ เช่น ยุทธศาสตร์ในการรบ คณิตศาสตร์ ปรัชญาและแนวคิดในการบริหารจัดการ การแข่งขันหมากล้อมจีนโลกของทุกปีนอกจากจะเป็นการประลองฝีมือในเกมหมากล้อม แล้ว ยังถือเป็นการพบปะเพื่อสร้างมิตรภาพและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและ กันของชาวจีนที่อยู่ทั่วโลกอีกด้วย
     ขณะที่กีฬาหมากกระดานชนิดนี้เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว และค่อยๆ มีพัฒนาการในระดับหนึ่ง โดยจะเห็นได้ว่าปัจจุบันเยาวชนไทยหันมาเล่น หมากล้อมมากขึ้น ทั้งในระดับโรงเรียนและมีหลายมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนรับโควตานักกีฬา หมากล้อมเข้าเรียน อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นต้น นอกจากนี้ หมากล้อมยังอยู่ในการดูแลของสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ส่งเสริมให้เยาวชนไทยและบุคคลทั่วไปได้ฝึกฝีมือ และได้รับการบรรจุ ให้เป็นกีฬาที่ทำการแข่งขันในระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นกีฬาเยาวชนแห่งชาติ กีฬาแห่งชาติ
     จากผลสำรวจของสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้ศึกษาเรื่อง "หมากล้อมกับการกล่อมเกลาเยาวชน" โดยทำการศึกษาร่วมกับสมาคมหมากล้อมจีนโลก และสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย พบว่า เมื่อเด็กและเยาวชนหันมาเล่นหมากล้อม บุคลิกภาพ ความคิดความรู้สึกของเด็กและเยาวชนจะเปลี่ยนไปอย่างไร เยาวชนที่เล่น หมากล้อมอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปีขึ้นไป มีความรู้สึกนึกคิดรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นมากขึ้น มีความคิดที่หลากหลาย มองปัญหาอย่างครบถ้วน พร้อมเผชิญกับปัญหา มีการวางแผนในการใช้ชีวิตแต่ละวันมากขึ้นกว่าเดิม มีสมาธิและมีเหตุผลในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์และความรู้สึกนั้น เยาวชนมีจิตใจที่สงบเยือกเย็นและรู้จักปล่อยวาง รู้จักหยุดคิดใคร่ครวญไตร่ตรองทุกเรื่องราวที่เข้ามาในชีวิต ส่วนทางด้าน พฤติกรรม ผลวิจัยยังพบอีกว่า เยาวชนที่เล่นหมากล้อมจะมีระเบียบวินัยและมีความรับผิดชอบมากขึ้น สามารถวิเคราะห์ แยกแยะเรื่องราวที่เกี่ยวข้องในชีวิต และมีความสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน
     เห็นข้อดีของการเล่นหมากล้อมขนาดนี้ อดถามตัวเองไม่ได้ว่าจริงหรือ? เพราะ ภาพตรงหน้าที่ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนหน้าตาเคร่งเครียด ตาจดจ้องอยู่ที่หมาก หินสีขาวดำในกระดาน นานๆ ทีจะยกถ้วยชาขึ้นมาจิบแก้คอแห้ง ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าหมากเกมนี้มันสนุกตรงไหน ถึงทำให้ผู้คนในอีกหลายประเทศนิยมเล่นโก๊ะ ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร ฯลฯ
     โยนคำถามกลับไปให้โต้โผใหญ่ของงานอย่าง นายก่อศักดิ์ ชัยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมหมากล้อมจีนโลก นายกสมาคมหมากล้อมแห่งประเทศไทย และอาศรมสยาม-จีนวิทยา ช่วยไขข้อข้องใจได้ความว่า ความสนุกของกีฬาหมากกระดานชนิดนี้อยู่ที่การได้ฝึกสมอง ฝึกสมาธิ และเป็นเกมที่ต้องใช้จินตนาการมองภาพรวมการวางหมากทั้งกระดาน ไม่ใช่มองแค่หมากที่เดินเท่านั้น ดังนั้น ผู้เล่นจึงต้องเพ่งสมาธิไปที่หมากทั้งกระดาน ที่สำคัญหัวใจหลักของเกมนี้คือ ชัยชนะไม่ได้มาจากความพ่ายแพ้ของผู้อื่น เพราะหมากล้อมสอนให้ยอมรับความพ่ายแพ้ และความพ่ายแพ้สอนให้รู้จักพัฒนาตนเอง อีกทั้งยังช่วยฝึกฝนในด้านจิตใจได้เป็นอย่างดี เท่ากับว่าหมากล้อมเป็นกีฬา สร้างมิตรภาพที่ดี โดยผู้เล่นจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
     ประธานสมาคมหมากล้อมจีนโลกฝากบอกอีกว่า คนทุกเพศทุกวัยสามารถเล่นโก๊ะได้หมด แต่จะให้ดีควรเริ่มเล่นตั้งแต่เด็กๆ เพื่อฝึกสมาธิพัฒนาสมอง วิธีการง่ายๆ ถ้าไม่อยากไปเรียนกับครูที่สมาคมหมากล้อมฯ ก็ซื้อหนังสือมาเปิดอ่านแล้วเล่นได้ทันที แต่ถ้าจะให้ดีแนะนำให้ไปเรียนกับ ครูดีกว่าจะได้เก่งเร็วขึ้น
     สอดคล้องนายนิติพล อรุณไพจริตรา หรืออาจารย์ติ๊ ที่สอนหมากล้อมมานานกว่า 3 ปี มีลูกศิษย์อายุตั้งแต่ 5 ขวบไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย บอกว่า หมากล้อมจะช่วยเรื่องการฝึกสมาธิได้ดี มาก ยกตัวอย่างเช่น เด็กบางคนที่มีสมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นานๆ แรกๆ ที่มาเล่นก็จะไม่อยู่กับที่ แต่กระดานแรกจะใช้เวลาเพียง 10 นาที พอเริ่มเล่นกระดานใหญ่ขึ้น เวลาก็จะเพิ่มขึ้น เขาก็จะเข้าใจว่าจะต้องใช้ความคิดจดจ่ออยู่กับเกม และนั่งอยู่กับที่ได้นาน ขึ้น เพราะต้องมีสมาธิอีก ทั้งยังมีกฎว่าระหว่างที่อยู่ในเกมห้ามมีการพูดคุย เพราะเท่ากับเป็นการรบกวนผู้อื่น
     "พอเรียนในระดับที่สูงขึ้นก็จะเป็นคนมีสมาธิโดยไม่รู้ตัว เพราะระหว่างเล่น จะต้องคิดเป็นขั้นเป็นตอน วางแผนการเดินหมากของตัวเองและของคู่ต่อสู้ล่วง หน้า ศึกษาชั้นเชิงของกันและกัน เท่ากับว่าการเล่นหมากเป็นการสนทนากันทางความคิดโดยที่ไม่ต้องพูดกัน" อาจารย์ติ๊กล่าว
     น้องกอล์ฟ หรือ น.ส.ปารมี อิทธานุเวคิน ปี 2 คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในเด็กโควตาโครงการพัฒนากีฬาชาติจากประเภทกีฬาหมากกระดาน ซึ่งหมากล้อมหรือโก๊ะถือเป็นกีฬาอีกหนึ่งประเภทที่ได้รับโควตาดัง กล่าว กอล์ฟเล่นโก๊ะมาตั้งแต่ ม.1 แต่พัฒนาฝีมือจนได้เข้าแข่งขันอย่างจริงจังตอนอยู่ ม.4 กอล์ฟบอกว่า ตนเองเริ่มต้นจากคนที่เล่นไม่เก่ง แข่งทีไรก็แพ้ไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่คิดมาก พอแพ้ก็เล่นใหม่ มาเริ่มเล่นเก่งจริงๆ ตอนเข้าสมาคมหมากล้อมฯ มีเพื่อนช่วยติว มีครูสอน ทำให้รู้สึกสนุกและอยากเก่งขึ้น จนได้ไปแข่งกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 36 คว้าเหรียญทองมานั่งมองเล่นๆ และไม่คิดว่าต่อมาจะได้ใช้เปิดทางเข้าเรียนมหาวิทยาลัย
     น้องกล์อฟอธิบายถึงความสนุกที่ได้เล่นโก๊ะให้ฟังว่า เกมนี้สนุกตรงที่ได้คิด วางแผน กำหนดกลยุทธ์ซึ่งต้องดูในภาพรวมทั้งกระดาน เพราะหากเดินหมากพลาดก็อาจทำให้ภาพรวมเสียได้ แต่ที่สำคัญโก๊ะไม่ได้สอนให้ช่วงชิงชัยชนะ แต่สอนให้ใช้ความคิดเลือกหมากที่ ดีที่สุด เพราะเมื่อเราเดินดีที่สุดก็จะเห็นจุดอ่อนของคู่แข่ง และปรับปรุง จุดอ่อนของตัวเอง ไม่ใช่การมุ่งเอาชนะ เพราะหากเรามุ่งเอาแต่ชนะก็จะมุ่งโจมตีเกินไป เท่ากับเปิดช่องให้อีกฝ่ายโจมตีได้ สำหรับประโยชน์ที่กอล์ฟได้จากการเล่นโก๊ะแบบโดนๆ คือ สอนให้ไม่เอาแต่ใจตัวเอง เช่น ถ้าอยากชนะตรงจุดใดจุดหนึ่งมาก แต่ถ้าการชนะนั้นทำให้ทั้งกระดานแพ้ก็ต้องหักใจไม่เล่นอย่างที่ชอบเพื่อ ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ทำให้ในชีวิตประจำวันจะระวังอยู่ตลอดว่าถึงแม้จะอยากทำอะไร ถ้าทำแล้วในระยะ ยาวตัวเองเดือดร้อน คนอื่นเดือดร้อน ก็จะไม่ทำ เพราะคิดถึงผลสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นเสมอ สอนให้ไม่ยึดติดกับชัยชนะมากเกินไป งานแข่งทุกงานที่ได้รางวัลหรือชนะจะไม่ เคยดีใจกับรางวัลเลย แต่การแข่งแต่ละงานไม่ว่าเล็กหรือใหญ่จะภูมิใจมากถ้ามีกระดานไหนที่เล่นได้ ดี ได้ความรู้เพิ่มไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ
     ขณะที่ น้องโฟน ด.ญ.ศิมาภรณ์ เศรษฐวงษ์ ม.3 จาก รร.สาธิตฯ จุฬาฯ ฝ่ายมัธยม รายนี้ก็ฝีมือไม่ใช่ย่อย แม้จะชอบเรียนไม่ให้ตกจาก 4.00 แต่ก็ชอบเล่นโก๊ะเป็นชีวิตจิตใจเช่นกัน น้องโฟนบอกว่า เล่นโก๊ะแล้วทำให้มีสมาธิ ช่วยในเรื่องของการเรียนได้ดี ชอบเล่นโก๊ะเพราะช่วยฝึกพัฒนาสมอง ทำให้สามารถวางแผนการดำเนินชีวิตได้อย่างมีระบบมากขึ้น เริ่มเล่นครั้งแรก ตั้งแต่อยู่ ป.6 ตอนนี้อยู่ระดับดั้ง (Dan) ที่ 2 เคยเข้าแข่งขันระดับเยาวชนแห่งชาติและได้รับคัดเลือกให้เข้าแข่งขันกีฬาเอ เชี่ยนเกมส์ที่จะถึงนี้ด้วย
     คุณแม่รัชดา กีระวิศาสกิจ ที่พา น้องภู หรือ ด.ช.รัชพล วัย 6 ขวบ เรียนอยู่ชั้น ป.1 รร.สาธิตฯ จุฬาฯ ฝ่ายประถม เล่าถึงพัฒนาการของลูกชายหลังได้เล่นโก๊ะมา 4 เดือนว่า ปกติน้องภูจะเป็นคนพูดเก่งอยู่แล้ว จะไม่ค่อยอยู่นิ่ง แรกๆ ที่มาเล่นเขาจะคุยตลอด แต่พอผ่านไปสักระยะเห็นได้ชัดว่าน้องภูมีสมาธิดีขึ้น ส่วนสาเหตุที่พาน้องภู มาเล่นโก๊ะ ก็เพราะมีเพื่อนแนะนำว่าจะช่วยทำฝึกสมาธิและพัฒนาสมอง และจะได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วย
     ถามน้องภูเล่นโก๊ะยากไหม เจ้าตัวรีบบอก วันแรกที่เริ่มเล่นยากมากเลย แต่ตอนนี้น้องภูเล่นเก่งแล้วจนชนะทุกคนในบ้านได้ น้องภูบอกเสียงใสต่อว่า ชอบเล่นโก๊ะมาก เพราะได้ฝึกสมาธิ ทำให้รู้สึกเหมือนเราอยู่ในสนามรบซึ่งต้องเอาตัวรอด ไม่ต้องเอาชนะคู่ต่อสู้ก็ได้ แต่ถ้ามีโอกาสก็ค่อยเอาชนะ
     "ตอนนี้น้องภูเล่นโก๊ะมา 4 เดือนแล้วและอยากเล่นไปเรื่อยๆ เพราะมีเพื่อนวัยเดียวกันเล่นด้วยอีกหลายคน น้องภูบอกว่า เล่นโก๊ะทำให้มีสมาธินำไปใช้เวลาเรียนได้ ส่วนตัวแล้วชอบเรียนวิชาศิลปะและวิทยาศาสตร์ ฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นนักบินอวกาศสำรวจโลก เลยตั้งใจว่าจะเรียนให้ดีที่สุด...
    "เยาวชนที่เล่นหมากล้อมอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปีขึ้นไป มีความรู้สึกนึกคิดรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นมากขึ้น มีความคิดที่หลาก หลาย มองปัญหาอย่างครบถ้วน พร้อมเผชิญกับปัญหา มีการวางแผนในการใช้ชีวิตแต่ละวันมากขึ้นกว่าเดิม มีสมาธิและมีเหตุผลในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เพิ่มขึ้น".
               ระดับฝีมือของผู้เล่นโก๊ะ
     1.ระดับคิว (Kyu) คือ ระดับผู้หัดหรือผู้เริ่มเล่น เริ่มจาก 15 คิว คือต่ำสุด แล้วค่อยๆ ขยับเป็น 14, 13, 12... จนถึง 1 คิว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดก่อนถึงดั้ง
     2.ระดับดั้ง (Dan) คือ ระดับอาจารย์ เริ่มจาก 1 ดั้ง คือระดับต่ำสุด จนกระทั่งถึง 9 ดั้ง ในประเทศไทยมีระดับสูงสุดคือ 7 ดั้ง แต่ระดับดั้งในประเทศไทยถือเป็นระดับมือสมัครเล่น
     3.ระดับมืออาชีพ คือ ระดับที่สูงขึ้นจากมือสมัครเล่น เริ่มจาก 1 ดั้งจนถึงระดับ 9 ดั้ง แต่ระดับมืออาชีพนี้จะมีอยู่เพียงแค่ในประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เท่านั้น

ไทยโพสต์  

ไม่มีความคิดเห็น: