วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

"โก๊ะ" ฝึกยอมแพ้ ก่อนรู้จักชัยชนะ

มีโอกาสเหินฟ้าตามอาศรมสยาม-จีนวิทยา บมจ.ซีพี ออลล์ ไปดูการแข่งขันหมากล้อมจีนโลก (โก๊ะจีนโลก) ชิงถ้วยเหยียนหวงเปย์ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2553 ระหว่างวันที่ 19-22 กันยายน ณ เมืองเซ่าซิง มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน งานนี้มีทั้งคนไทยคนไทยและชาวจีนจากทั่วโลกกว่า 80 คนเข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าการแข่งขันในครั้งนี้คนไทยติดอันดับที่ 8
     หมากล้อมหรือโก๊ะมีต้นกำเนิดที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อกว่า 3,000 ปีมาแล้ว โดยถือเป็นศิลปะหนึ่งในสี่แขนงของจีน ได้แก่ การดีดพิณ การเดินหมากกระดาน การเขียนพู่กัน และการวาดรูป ซึ่งหมากกระดานก็คือ "หมากล้อม" มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่าโก๊ะ นอกจากจะเป็นศิลปะแล้วหมากล้อม ยังครอบคลุมถึงศาสตร์แขนงต่างๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ เช่น ยุทธศาสตร์ในการรบ คณิตศาสตร์ ปรัชญาและแนวคิดในการบริหารจัดการ การแข่งขันหมากล้อมจีนโลกของทุกปีนอกจากจะเป็นการประลองฝีมือในเกมหมากล้อม แล้ว ยังถือเป็นการพบปะเพื่อสร้างมิตรภาพและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและ กันของชาวจีนที่อยู่ทั่วโลกอีกด้วย
     ขณะที่กีฬาหมากกระดานชนิดนี้เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว และค่อยๆ มีพัฒนาการในระดับหนึ่ง โดยจะเห็นได้ว่าปัจจุบันเยาวชนไทยหันมาเล่น หมากล้อมมากขึ้น ทั้งในระดับโรงเรียนและมีหลายมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนรับโควตานักกีฬา หมากล้อมเข้าเรียน อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นต้น นอกจากนี้ หมากล้อมยังอยู่ในการดูแลของสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ส่งเสริมให้เยาวชนไทยและบุคคลทั่วไปได้ฝึกฝีมือ และได้รับการบรรจุ ให้เป็นกีฬาที่ทำการแข่งขันในระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นกีฬาเยาวชนแห่งชาติ กีฬาแห่งชาติ
     จากผลสำรวจของสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้ศึกษาเรื่อง "หมากล้อมกับการกล่อมเกลาเยาวชน" โดยทำการศึกษาร่วมกับสมาคมหมากล้อมจีนโลก และสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย พบว่า เมื่อเด็กและเยาวชนหันมาเล่นหมากล้อม บุคลิกภาพ ความคิดความรู้สึกของเด็กและเยาวชนจะเปลี่ยนไปอย่างไร เยาวชนที่เล่น หมากล้อมอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปีขึ้นไป มีความรู้สึกนึกคิดรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นมากขึ้น มีความคิดที่หลากหลาย มองปัญหาอย่างครบถ้วน พร้อมเผชิญกับปัญหา มีการวางแผนในการใช้ชีวิตแต่ละวันมากขึ้นกว่าเดิม มีสมาธิและมีเหตุผลในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์และความรู้สึกนั้น เยาวชนมีจิตใจที่สงบเยือกเย็นและรู้จักปล่อยวาง รู้จักหยุดคิดใคร่ครวญไตร่ตรองทุกเรื่องราวที่เข้ามาในชีวิต ส่วนทางด้าน พฤติกรรม ผลวิจัยยังพบอีกว่า เยาวชนที่เล่นหมากล้อมจะมีระเบียบวินัยและมีความรับผิดชอบมากขึ้น สามารถวิเคราะห์ แยกแยะเรื่องราวที่เกี่ยวข้องในชีวิต และมีความสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน
     เห็นข้อดีของการเล่นหมากล้อมขนาดนี้ อดถามตัวเองไม่ได้ว่าจริงหรือ? เพราะ ภาพตรงหน้าที่ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนหน้าตาเคร่งเครียด ตาจดจ้องอยู่ที่หมาก หินสีขาวดำในกระดาน นานๆ ทีจะยกถ้วยชาขึ้นมาจิบแก้คอแห้ง ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าหมากเกมนี้มันสนุกตรงไหน ถึงทำให้ผู้คนในอีกหลายประเทศนิยมเล่นโก๊ะ ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร ฯลฯ
     โยนคำถามกลับไปให้โต้โผใหญ่ของงานอย่าง นายก่อศักดิ์ ชัยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมหมากล้อมจีนโลก นายกสมาคมหมากล้อมแห่งประเทศไทย และอาศรมสยาม-จีนวิทยา ช่วยไขข้อข้องใจได้ความว่า ความสนุกของกีฬาหมากกระดานชนิดนี้อยู่ที่การได้ฝึกสมอง ฝึกสมาธิ และเป็นเกมที่ต้องใช้จินตนาการมองภาพรวมการวางหมากทั้งกระดาน ไม่ใช่มองแค่หมากที่เดินเท่านั้น ดังนั้น ผู้เล่นจึงต้องเพ่งสมาธิไปที่หมากทั้งกระดาน ที่สำคัญหัวใจหลักของเกมนี้คือ ชัยชนะไม่ได้มาจากความพ่ายแพ้ของผู้อื่น เพราะหมากล้อมสอนให้ยอมรับความพ่ายแพ้ และความพ่ายแพ้สอนให้รู้จักพัฒนาตนเอง อีกทั้งยังช่วยฝึกฝนในด้านจิตใจได้เป็นอย่างดี เท่ากับว่าหมากล้อมเป็นกีฬา สร้างมิตรภาพที่ดี โดยผู้เล่นจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
     ประธานสมาคมหมากล้อมจีนโลกฝากบอกอีกว่า คนทุกเพศทุกวัยสามารถเล่นโก๊ะได้หมด แต่จะให้ดีควรเริ่มเล่นตั้งแต่เด็กๆ เพื่อฝึกสมาธิพัฒนาสมอง วิธีการง่ายๆ ถ้าไม่อยากไปเรียนกับครูที่สมาคมหมากล้อมฯ ก็ซื้อหนังสือมาเปิดอ่านแล้วเล่นได้ทันที แต่ถ้าจะให้ดีแนะนำให้ไปเรียนกับ ครูดีกว่าจะได้เก่งเร็วขึ้น
     สอดคล้องนายนิติพล อรุณไพจริตรา หรืออาจารย์ติ๊ ที่สอนหมากล้อมมานานกว่า 3 ปี มีลูกศิษย์อายุตั้งแต่ 5 ขวบไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย บอกว่า หมากล้อมจะช่วยเรื่องการฝึกสมาธิได้ดี มาก ยกตัวอย่างเช่น เด็กบางคนที่มีสมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นานๆ แรกๆ ที่มาเล่นก็จะไม่อยู่กับที่ แต่กระดานแรกจะใช้เวลาเพียง 10 นาที พอเริ่มเล่นกระดานใหญ่ขึ้น เวลาก็จะเพิ่มขึ้น เขาก็จะเข้าใจว่าจะต้องใช้ความคิดจดจ่ออยู่กับเกม และนั่งอยู่กับที่ได้นาน ขึ้น เพราะต้องมีสมาธิอีก ทั้งยังมีกฎว่าระหว่างที่อยู่ในเกมห้ามมีการพูดคุย เพราะเท่ากับเป็นการรบกวนผู้อื่น
     "พอเรียนในระดับที่สูงขึ้นก็จะเป็นคนมีสมาธิโดยไม่รู้ตัว เพราะระหว่างเล่น จะต้องคิดเป็นขั้นเป็นตอน วางแผนการเดินหมากของตัวเองและของคู่ต่อสู้ล่วง หน้า ศึกษาชั้นเชิงของกันและกัน เท่ากับว่าการเล่นหมากเป็นการสนทนากันทางความคิดโดยที่ไม่ต้องพูดกัน" อาจารย์ติ๊กล่าว
     น้องกอล์ฟ หรือ น.ส.ปารมี อิทธานุเวคิน ปี 2 คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในเด็กโควตาโครงการพัฒนากีฬาชาติจากประเภทกีฬาหมากกระดาน ซึ่งหมากล้อมหรือโก๊ะถือเป็นกีฬาอีกหนึ่งประเภทที่ได้รับโควตาดัง กล่าว กอล์ฟเล่นโก๊ะมาตั้งแต่ ม.1 แต่พัฒนาฝีมือจนได้เข้าแข่งขันอย่างจริงจังตอนอยู่ ม.4 กอล์ฟบอกว่า ตนเองเริ่มต้นจากคนที่เล่นไม่เก่ง แข่งทีไรก็แพ้ไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่คิดมาก พอแพ้ก็เล่นใหม่ มาเริ่มเล่นเก่งจริงๆ ตอนเข้าสมาคมหมากล้อมฯ มีเพื่อนช่วยติว มีครูสอน ทำให้รู้สึกสนุกและอยากเก่งขึ้น จนได้ไปแข่งกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 36 คว้าเหรียญทองมานั่งมองเล่นๆ และไม่คิดว่าต่อมาจะได้ใช้เปิดทางเข้าเรียนมหาวิทยาลัย
     น้องกล์อฟอธิบายถึงความสนุกที่ได้เล่นโก๊ะให้ฟังว่า เกมนี้สนุกตรงที่ได้คิด วางแผน กำหนดกลยุทธ์ซึ่งต้องดูในภาพรวมทั้งกระดาน เพราะหากเดินหมากพลาดก็อาจทำให้ภาพรวมเสียได้ แต่ที่สำคัญโก๊ะไม่ได้สอนให้ช่วงชิงชัยชนะ แต่สอนให้ใช้ความคิดเลือกหมากที่ ดีที่สุด เพราะเมื่อเราเดินดีที่สุดก็จะเห็นจุดอ่อนของคู่แข่ง และปรับปรุง จุดอ่อนของตัวเอง ไม่ใช่การมุ่งเอาชนะ เพราะหากเรามุ่งเอาแต่ชนะก็จะมุ่งโจมตีเกินไป เท่ากับเปิดช่องให้อีกฝ่ายโจมตีได้ สำหรับประโยชน์ที่กอล์ฟได้จากการเล่นโก๊ะแบบโดนๆ คือ สอนให้ไม่เอาแต่ใจตัวเอง เช่น ถ้าอยากชนะตรงจุดใดจุดหนึ่งมาก แต่ถ้าการชนะนั้นทำให้ทั้งกระดานแพ้ก็ต้องหักใจไม่เล่นอย่างที่ชอบเพื่อ ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ทำให้ในชีวิตประจำวันจะระวังอยู่ตลอดว่าถึงแม้จะอยากทำอะไร ถ้าทำแล้วในระยะ ยาวตัวเองเดือดร้อน คนอื่นเดือดร้อน ก็จะไม่ทำ เพราะคิดถึงผลสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นเสมอ สอนให้ไม่ยึดติดกับชัยชนะมากเกินไป งานแข่งทุกงานที่ได้รางวัลหรือชนะจะไม่ เคยดีใจกับรางวัลเลย แต่การแข่งแต่ละงานไม่ว่าเล็กหรือใหญ่จะภูมิใจมากถ้ามีกระดานไหนที่เล่นได้ ดี ได้ความรู้เพิ่มไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ
     ขณะที่ น้องโฟน ด.ญ.ศิมาภรณ์ เศรษฐวงษ์ ม.3 จาก รร.สาธิตฯ จุฬาฯ ฝ่ายมัธยม รายนี้ก็ฝีมือไม่ใช่ย่อย แม้จะชอบเรียนไม่ให้ตกจาก 4.00 แต่ก็ชอบเล่นโก๊ะเป็นชีวิตจิตใจเช่นกัน น้องโฟนบอกว่า เล่นโก๊ะแล้วทำให้มีสมาธิ ช่วยในเรื่องของการเรียนได้ดี ชอบเล่นโก๊ะเพราะช่วยฝึกพัฒนาสมอง ทำให้สามารถวางแผนการดำเนินชีวิตได้อย่างมีระบบมากขึ้น เริ่มเล่นครั้งแรก ตั้งแต่อยู่ ป.6 ตอนนี้อยู่ระดับดั้ง (Dan) ที่ 2 เคยเข้าแข่งขันระดับเยาวชนแห่งชาติและได้รับคัดเลือกให้เข้าแข่งขันกีฬาเอ เชี่ยนเกมส์ที่จะถึงนี้ด้วย
     คุณแม่รัชดา กีระวิศาสกิจ ที่พา น้องภู หรือ ด.ช.รัชพล วัย 6 ขวบ เรียนอยู่ชั้น ป.1 รร.สาธิตฯ จุฬาฯ ฝ่ายประถม เล่าถึงพัฒนาการของลูกชายหลังได้เล่นโก๊ะมา 4 เดือนว่า ปกติน้องภูจะเป็นคนพูดเก่งอยู่แล้ว จะไม่ค่อยอยู่นิ่ง แรกๆ ที่มาเล่นเขาจะคุยตลอด แต่พอผ่านไปสักระยะเห็นได้ชัดว่าน้องภูมีสมาธิดีขึ้น ส่วนสาเหตุที่พาน้องภู มาเล่นโก๊ะ ก็เพราะมีเพื่อนแนะนำว่าจะช่วยทำฝึกสมาธิและพัฒนาสมอง และจะได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วย
     ถามน้องภูเล่นโก๊ะยากไหม เจ้าตัวรีบบอก วันแรกที่เริ่มเล่นยากมากเลย แต่ตอนนี้น้องภูเล่นเก่งแล้วจนชนะทุกคนในบ้านได้ น้องภูบอกเสียงใสต่อว่า ชอบเล่นโก๊ะมาก เพราะได้ฝึกสมาธิ ทำให้รู้สึกเหมือนเราอยู่ในสนามรบซึ่งต้องเอาตัวรอด ไม่ต้องเอาชนะคู่ต่อสู้ก็ได้ แต่ถ้ามีโอกาสก็ค่อยเอาชนะ
     "ตอนนี้น้องภูเล่นโก๊ะมา 4 เดือนแล้วและอยากเล่นไปเรื่อยๆ เพราะมีเพื่อนวัยเดียวกันเล่นด้วยอีกหลายคน น้องภูบอกว่า เล่นโก๊ะทำให้มีสมาธินำไปใช้เวลาเรียนได้ ส่วนตัวแล้วชอบเรียนวิชาศิลปะและวิทยาศาสตร์ ฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นนักบินอวกาศสำรวจโลก เลยตั้งใจว่าจะเรียนให้ดีที่สุด...
    "เยาวชนที่เล่นหมากล้อมอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปีขึ้นไป มีความรู้สึกนึกคิดรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นมากขึ้น มีความคิดที่หลาก หลาย มองปัญหาอย่างครบถ้วน พร้อมเผชิญกับปัญหา มีการวางแผนในการใช้ชีวิตแต่ละวันมากขึ้นกว่าเดิม มีสมาธิและมีเหตุผลในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เพิ่มขึ้น".
               ระดับฝีมือของผู้เล่นโก๊ะ
     1.ระดับคิว (Kyu) คือ ระดับผู้หัดหรือผู้เริ่มเล่น เริ่มจาก 15 คิว คือต่ำสุด แล้วค่อยๆ ขยับเป็น 14, 13, 12... จนถึง 1 คิว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดก่อนถึงดั้ง
     2.ระดับดั้ง (Dan) คือ ระดับอาจารย์ เริ่มจาก 1 ดั้ง คือระดับต่ำสุด จนกระทั่งถึง 9 ดั้ง ในประเทศไทยมีระดับสูงสุดคือ 7 ดั้ง แต่ระดับดั้งในประเทศไทยถือเป็นระดับมือสมัครเล่น
     3.ระดับมืออาชีพ คือ ระดับที่สูงขึ้นจากมือสมัครเล่น เริ่มจาก 1 ดั้งจนถึงระดับ 9 ดั้ง แต่ระดับมืออาชีพนี้จะมีอยู่เพียงแค่ในประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เท่านั้น

ไทยโพสต์  

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เรียนสนุกในโลกกว้าง กินแบบไทยในตลาดน้ำอัมพวา

เป้าหมายหลักอีกที่หนึ่งที่ผู้ที่มาเที่ยวอัมพวาไม่ควรพลาดคือ การมากิน มาซื้อข้าวของ ทั้งของกิน ของฝาก ของที่ระลึกที่ตลาดน้ำอัมพวา ที่จริงแล้ว ที่นี่มีตลาดน้ำอีกแห่งคือ ตลาดน้ำท่าคา ค่ะ แต่เป็นที่ค่อนข้างเล็กกว่าที่ตลาดน้ำอัมพวา คนละแบบกัน คือ ตลาดน้ำท่าคาจะเป็นแบบ Eco Tourism หากใครอยากเห็นบรรยากาศแบบดั้งเดิม เงียบๆ และมีเส้นทางเดินชมชีวิตสวน มาที่ตลาดน้ำท่าคาจะเหมาะมากค่ะ แต่จะเปิดเฉพาะเสาร์อาทิตย์เท่านั้น

ที่ตลาดน้ำอัมพวานี่ ต้องชื่นชมว่าได้ัรับการบูรณะพัฒนาหลายด้าน ทั้งทางด้านสถานที่ ก็ตกแต่งแบบย้อนยุค แต่ไม่โทรม เป็นยุคประมาณ ๕๐-๖๐ ปีก่อน ใครชอบละคอนเรื่องวนิดาบรรยากาศก็จะประมาณยุคนั้นแหละค่ะ  ใครจะมา แต่งชุดกย้อนยุค ใส่หมวกปีกกว้างมาถ่ายรูปก็กิ๊บเก๋ไม่เบา  หรือ จะมาซื้อหาเอาที่นี่ก็ได้ค่ะ  มีร้านเสื้อผ้าหลายร้าน ขายเสื้อผ้าดีไซน์ไม่เลวเลย ดูย้อนยุค เปรี๊ยวจี๊ดจ๊าด ราคาไม่แพง แต่คุณภาพไม่ค่อยดี ใส่เล่นๆได้ค่ะ แต่ใส่จริงไม่ดี





ส่วนเรื่องอาหารการกินที่นี่ก็มีหลายอย่างค่ะ เช่นอาหารทะเลปิ้งย่างจากในเรือ แล้วมานั่งกินริมฝั่ง ขนมไทยๆที่เลื่องชื่อ ไม่เสียชื่ออัมพวา ถิ่นสวนมะพร้าว  ไปซอกไหน ซอยไหน เจอแต่สวนมะพร้างครึ้มไปหมด ดังนั้น น้ำตาลปี๊บดีๆก็เยอะค่ะ  กะทิก็มาก ดังนั้น ขนมไทย อาหารไทยที่นี่ ย่อมหวานมัน ไม่เสียชื่ออัมพวาแน่นอน  หากเล็งๆดีๆ เด็กๆอาจจะได้เรียนรู้ว่า กว่าจะได้มาซึ่งอาหารไทยสารพัดชนิดนั้น ต้องใช้ฝีไม้ลายมือเพียงใด และอุปกรณ์ เครื่องปรุงมีอะไรบ้าง  ถือว่าเป็นการเรียนรู้ของเด็กๆ เรื่องการทำอาหาร เรื่องอาหารไทยต่างๆไปด้วย  สิ่งเหล่านี้ เป็นหนึ่งในวิชาที่เด็กๆต้องเรียนในอนาคต คือ ชั้นมัธยมต้น จะมีเรื่องกาพย์เห่เรือชมเครืองคาวหวาน  เรื่องราวของอาหารเหล่านี้ เด็กต้องรู้และสอบแน่นอนค่ะ  เราสอนลูกก่อน ก็ซึมซับก่อน ได้เปรียบค่ะ




ที่ตลาดน้ำอัมพวา สามารถเที่ยวได้ทั้งวันค่ะ ตอนช่วงเช้า สาย บ่าย ค่ำ มืด ก็มีตลอด ค่ำๆและกลางคืน จะมีเรือพาออกไปชมหิ่งห้อยตามสวน เที่ยวหนึ่งราคาประมาณ ๖๐ บาทต่อคน หรือ ๖๐๐ บาทต่อลำค่ะ ไปเที่ยวประมาณ ๑ ชม.  เริ่มรอบแรกประมาณ ๑๘.๓๐ น. และรอบสุดท้ายคือ  ๓ ทุ่ม  ส่วนช่วงกลางวัน จะนั่งเรื่อก็ได้ค่ะ พาไปชมวัดสำคัญๆริมน้ำ และชมชีวิตริมสองฝั่งคลอง ราคาก็ใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ คนละ ๕๐ บาท

เพื่อนๆที่มาเที่ยว หากมาต้องอย่าลืมมองหา "อัมพวาครับ" จะเป็นซอกเล็กๆ มีร้านค้า ผับเล็กๆ แต่งแบบเก๋ๆ มีมุมถ่ายรูปย้อนยุค พร้อมกับ พร๊อพน่ารักๆ เช่น รถถีบ ตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์  ไว้ให้ถ่ายรูปค่ะ เก๋มากเลย











มีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ จำลองครัวไทยเดิม และข้าวของพื้นบ้านต่างๆที่เราใช้สอนเด็กๆได้

ว่าวจุฬา ที่เด็กเมืองกรุงอาจจะไม่มีโอกาสเห็นของจริง

จำลองเตาโบราณที่ใช้กวนน้ำตาลมะพร้าว

อีกที่หนึ่งที่อย่าลืมแวะคือ "บ้านครูเอื้อ" ค่ะ เป็นบ้านเดิมของ คุณครู เือื้อ สุนทรสนาน นักประพันธ์และศิลปินเอกผู้ก่อตั้ง วงสุนทราภรณ์ ที่ยังมีหลายเพลง เป็นอมตะ มาจนถึงทุกวันนี้  ที่นี่ยังมีของใช้ส่วนตัวหลายอย่างของท่าน และขายผลงานเพลงของสุนทราภรณ์อีกด้วย  ดิฉันเองก็ถือโอกาสเปิดเพลงสุนทราภรณ์ให้ลูกฟังค่ะ  ลูกจะได้รู้จักเพลงและรู้จักครูเือื้อ ศิลปินเอกของชาติไปด้วย


เสื้อสูทตัวเก่งและหีบเพลงของครูเือื้อค่ะ

ของใช้ส่วนตัวของครูเอื้อ

เครื่องพิมพ์ดีดที่ครูเือื้อใช้ในการสร้างผลงานสำคัญๆในอดีต เดี๋ยวนี้เด็กๆก็อาจจะไม่รู้จักเครื่องพิมพ์ดีดแล้ว





วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เรียนสนุกในโลกกว้าง สนุกกับวรรณคดีไทยที่อุทยาน ร.๒ (๓)

ในอุทยานร. ๒ นี้ ยังมีอีกเรือนหนึ่งที่เป็นพิพิธภัณฑ์ เกี่ยวกับเครื่องดนตรีไทย ซึ่งเราสามารถชมได้ตามสบาย แต่ห้่่ามถ่ายรูป เนื่องจาก ทางพิพิธภัณฑ์ เกรงว่าจะเป็นภาพที่ทำให้ผู้ที่สะสมของเก่า จะ "สั่งออร์เดอร์"  ซึ่งอาจทำให้เกิดการโจรกรรมได้  ดังนั้น ดิฉันจึงไม่สามารถถ่ายภาพจริงๆมาให้ชมได้ ได้แต่เล่า เรื่องราว ที่เพื่อนๆสามารถใช้เป็นข้อมูลในการเตรียมพร้อมในการสอนลูกไป เที่ยวไปได้

ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะแสดงเครื่องดนตรีชิ้นสำคัญ เช่น  ซอสามสายที่ทำเลียนแบบ “ซอสายฟ้าฟาด” ​ซึ่ง​เป็น ซอสามสายคู่พระทัยของรัชกาลที่ 2 ที่​เป็นต้นกำ​เนิด​เพลง “บุหลันลอย​เลื่อน” ​เพลงนี้มีต้นกำ​เนิดจากพระสุบินของพระองค์​เอง (​โดย​เล่ากันว่า หลังจากพระองค์​ได้ทรงซอสามสายจนดึก ​ก็​เสด็จ​เข้าที่บรรทม​แล้วทรงพระสุบินว่า ​ได้​เสด็จ​ไปยังดิน​แดนที่สวยงามดุจสวงสวรรค์ ณ ที่นั้น มีพระจันทร์อันกระจ่าง​ได้ลอยมา​ใกล้พระองค์ พร้อมกับมี​เสียงทิพยดนตรีอัน​ไพ​เราะยิ่ง ประทับ​แน่น​ในพระราชหฤทัย ครั้นทรงตื่นจากบรรทม​ก็ยังทรงจำ​เพลงนั้น​ได้ ​จึง​ได้​เรียกพนักงาน ดนตรี มา​แต่ง​เพลงนั้น​ไว้ ​และทรงอนุญาต​ให้นำออก​เผย​แผ่ ​ซึ่ง​เคย ​ใช้ ​เพลงทรงพระสุบินนี้​เป็น​เพลงสรร​เสริญพระบารมีอีกด้วย) ​และตำนาน​เล่าสืบต่อกันมาว่า​เป็นซอที่มี​ความสวยงาม​และมี​เสียง​ไพ​เราะ ​ถึงกับ​เป็นต้น​แบบซอสามสาย​ในปัจจุบัน
 ซอสายฟ้าฟาด อันเลื่องชื่อ ที่สูญหายไปตั้งแต่ครั้งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซอองค์ใหม่นี้ เป็นของพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  เป็นซอที่แกะสลักจากช้างงดงามมากค่ะ  และในพิพิธภัณฑ์ ยังแสดงเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ของจริงๆ เพื่อให้เด็กๆได้มีโอกาสรู้จัก เช่น ซออู้ ซอด้วง ฆ้องวง ระนาดเอก กลอง จะเข้

หากลูกเป็นเด็กโต ก็อาจจะสอนให้รู้จัก วงมโหรี วงเครื่องสาย วงปี่พาทย์ หรือแยกประเภทเครื่องดนตรี ดีด สี ตี เป่า ได้อีกค่ะ สอนเพิ่มขึ้นตามวัยของลูก และลองดูหลักสูตรการศึกษาของเด็ก ที่แยกว่า เด็กในแต่ละชั้นปี ควรเรียนรู้มากเพียงใด  ดิฉันจำได้ว่าตอนชั้นมัธยมปีที่ ๔ ต้องเรียนและำรายงานเรื่องประวัตินักประพันธ์เอก เช่น หลวงประดิษฐ์ไพเราะ และต้องทำรายงานเืรื่อง เพลงไทยเดิมประเภทต่างๆ  ที่นี่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ให้แรงบันดาลใจในการค้นคว้าศึกษามากเลยค่ะ


ซออู้

ซอด้วง

ซอสามสาย
จะเข้

ฆ้องวง

ระนาดเอก





  

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เรียนสนุกในโลกกว้าง สนุกกับวรรณคดีไทยที่อุทยาน ร.๒ (๒)

ที่อุทยาน ร.๒ นี่ ยังมีสิ่งที่เราสอนลูกได้อีกค่ะ เช่น เรื่องราวในวรรณคดีไทย  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงประสูติที่เมืองอัมพวาแห่งนี้เอง พระองค์ท่าน เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความเป็นปราชญ์ และในรัชสมัยของพระองค์ท่าน ประเทศไทยของเรามีความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปะและวัฒนธรรมทุกๆด้าน โดยเฉพาะทางด้านวรรณคดี  พระองค์ท่านไ้ด้ทรงพระราชนิพนธ์ ที่ทรงคุณค่า ถือเป็นมรดกที่สำคัญของชาติ  ซึ่งพวกเราทุกคนและเด็กไทยทุกคน ได้เรียนในระดับชั้นต่างๆเช่น
  • บทละครเรื่อง  รามเกียรติ์
  • บทละครเรื่อง  อิเหนา (ได้รับยกย่องเป็นบทละครที่ไพเราะที่สุด) 
  • บทละครเรื่อง  สังข์ทอง 
  • บทละครเรื่อง  ไกรทอง 
  • บทละครเรื่อง  คาวี 
  • บทละครเสภาเรื่อง ขุนช้าง-ขุนแผน (ได้รับยกย่องเป็นยอดคำกลอนสุภาพ) 
  • กาพย์เห่เรือ

  ดังนั้นในอุทยาน ร.๒ จึงมีรูปหล่อ เป็นตอนสำคัญๆในวรรณคดี  ซึ่งทำให้ลูกๆ ของดิฉันตื่นเต้นมาก และอยากรู้อยากเห็น อยากให้เล่า เรื่องราวในวรรณคดีเหล่านั้น  ดิฉันได้ใช้โอกาสนี้ ปูพื้นฐานความรู้ลูกๆ เรื่องราชวงศ์จักรี และพระราชประวัติโดยย่อของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 

รวมทั้งเรื่องราวสนุกๆในวรรณกรรมที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น

หุ่นกระบอกเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งลูกสนใจมาก เพราะเคยไปดู Water Puppet ที่เวียดนามมาแล้ว


เรื่องราวรามเกียรติ์ ตอนหนุมานลักกล่องดวงใจทศกรรฐ์ถอดดวงใจฝากพระฤาษีโคบุตรไว้หนุมานจึงทำอุบายร่วมกับองคต มาลวงพระฤาษีว่า ขอเป็นข้าทศกรรฐ์แทนพระรามซึ่งใจร้ายใจดำพระฤาษีถูกอ้อนวอนมาก ๆ ก็ใจอ่อน จึงพาไปจะฝากตัวเป็นข้าทศกรรฐ์

จากวรรณคดีเรื่องไกรทอง ลูกสนใจมากเพราะเชื่อมต่อองค์ความรู้ที่ได้จากการไปเที่ยวฟาร์มจระเข้


อีกสิ่งหนึ่งที่น้องแชง ลูกคนโตสนใจ คือ เรื่องของหุ่นกระบอกของไทย  เพราะตอนที่อยู่ที่เวียดนาม ทางโรงเรียนเคยพาไปดูหุ่นกระบอกน้ำ Water Puppet ของเวียดนาม เป็นที่สนุกสนาน  เมื่อมาเห็นหุ่นกระบอกไทย จึงสนใจอยากชม และอยากทราบความแตกต่าง  ดิฉันจึงถือโอกาสสอนเรื่อง หุ่นกระบอก โขน ละคอน ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมของชาติไปด้วย

นี่ดิฉันก็วางแผนว่าจะไปซื้อนิทานวรรณคดี เหล่านี้มาให้ลูกอ่านไปก่อนค่ะ พอคร่าวๆ แต่เนื้อเรื่องเต็มๆ ก็มีเก็บไว้บ้างแล้วค่ะ ซึ่งรอให้ลูกอ่านเองตอนโต ต่อไป การเรียนรู้เรื่องวรรณกรรมดีๆ ช่วยพัฒนาทักษะ การใช้ภาษาไทยของลูก รวมทั้งทำให้ลูกเข้าใจเหตุการณ์ความรู้สึกนึกคิด สภาพชีวิตและสังคมของคนในอดีตได้ 

เรียนสนุกในโลกกว้าง สนุกกับวรรณคดีไทยที่อุทยาน ร.๒ (๑)

อุทยาน ร.๒ เป็นสถานที่ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่ พระบามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย คณะกรรมการ มูลนิธิร. ๒ ได้มีโครงสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นศูนย์กลางจำหน่ายเผยแพร่พืชผลทางเกษตรกรรม และผลผลิตพื้นเมือง อุทยาน ร. ๒ มีเนื้อที่ทั้งหมด ๑๑ ไร่ อยู่ทางทิศตะวันตกของพระอารามวัดอัมพวัน เจติยาราม พระราชสมุทรเมธี อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยาราม ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิดป้ายอุทยาน เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๓ ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารพิพิธภณัฑ์ เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๕ และเปิดบริการให้ประชาชนเข้าชม ได้ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นต้นมา


เรือนไทย ที่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอัมพวา และของเก่าหายากในยุคต้นรัตนโกสินทร์




ในอุทยาน ร. ๒ นี้ มีเรื่องราวมากมายที่ให้เด็กๆได้มีโอกาส เห็น และเรียนรู้สิ่งที่ได้เรียนในวิชาภาษาไทย ดนตรีไทย วรรณคดีไทย ดิฉันเองจำได้ว่า ในวัยเด็กที่เรียนวิชาเหล่านี้ หลายๆสิ่ง ไม่มีโอกาสได้เห็น ได้สัมผัส เพราะเป็นของหายาก หรือ ไม่ก็สูญหายเหลือแต่ตำนาน  แต่เด็กสมัยนี้โชคดี ที่เรามีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี  ที่ทรงสนพระทัยเรื่องราวของมรดกชาติในอดีต พระองค์ได้ทรงมีพระดำริ และพระราชทานพระราชทรัพย์ ในการเก็บรวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมที่สูญหาย ให้เราได้มีโอกาสได้เห็น  เช่น  ต้นมะม่วงหาว มะนาวโห่  เราก็ได้เห็นที่นี่ค่ะ

นี่เป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งของมะนาวโห่

ผลมะนาวโห่คะ่ เหมือนมะนาวผ่าซีก


การเรียนของลูกเมื่อปีก่อน ที่เวียดนาม ลูกเีรียนเรื่อง "บ้าน"  สำหรับเด็กอนุบาล ๓ คุณครูเน้น เรื่อง โครงสร้างของบ้าน  เช่น ประตู หน้าต่าง หลังคา บันได และเรียนเรื่องห้องต่างๆ เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว เป็นต้น    และเรียนว่า บ้าน และส่วนต่างๆทำจากอะไร    โรงเรียนพาเด็กไปเรียนรู้ที่ Ethnic Museum ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บเรื่องราว ศิลปะ ชีวิตของชนเผ่า ๕๒ ชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่างๆในเวียดนาม  ได้รู้ว่า เผ่าต่างๆ มีบ้านแบบไหน ต่างกันอย่างไร  และมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร เป็นต้น

มาคราวนี้ที่อัมพวา ดิฉันเองก็ได้มาต่อยอดความรู้เรื่องบ้านไทย ให้ลูกได้เรียนรู้ ต่อยอดเรื่องบ้าน ที่ลูกได้เรียนจากฮานอย เมื่อปีก่อน  เรือนไทยภาคกลาง ใต้ถุนสูง พื้นสะอาด  ไม่เหมือนกับที่เวียดนาม ศิลปะการสร้าง และโครงสร้างบ้าน งดงาม มั่นคงแข็งแรง จากไม้แกะสลัก เกลาเรียบร้อย  ทำให้เข้าใจความอ่อนหวาน ละเอียดอ่อน และสงบร่มเย็น ในจิตใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรมของไทยเรา ที่ไม่มีใครเหมือน

ระเบียงที่เชื่อมระหว่างเรือนหมู่

ตามชานเรือนปลูกไม้กระถาง เพื่อความสวยงามและร่มรื่น
เรือนไทยมีชานเรือนกว้าง เพื่อรับแขก และทำกิจกรรมร่วมกัน


 แต่ในวัยเด็กเล็กแบบนี้ ก็ไม่ได้สอนรายละเอียดมากหรอกค่ะ นอกจากจะบอกลูกว่า นี่เรียกว่าอะไร นั่นทำจากอะไร ไว้ใช้ทำอะไร  แต่หากลูกๆโตขึ้นก็็คงสอนรายละเอียดได้มากขึ้น เช่น หากลูกเรียนวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ก็จะมีหลายตอนที่บรรยายเรื่องเรือนไทย และส่วนประกอบของเรือนไทย ก็อาจจะได้ศึกษาในเชิงศิลปกรรมไทยได้ค่ะ     หรือลูกหลานใคร สนใจจะเรียนคณะสถาปัตยกรรม  ก็อาจจะพามาชม เพื่อเป็นการจุดประกายในการสร้างผลงานได้

เรือนไทยใต้ถุนสูง เพราะประเทศไทยฝนตกชุก และมักมีน้ำท่วม จึงตั้งเรือนไว้บนเสาสูงเพื่อป้องกันน้ำหลาก


สรุปแล้ว ที่อุทยานร. ๒ นี่ พาลูกมาได้บ่อยๆ และทุกช่วงชีวิต เพราะเด็กจะเรียนรู้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป ตามวัยของเขาค่ะ  ค่าเข้าชมสถานที่ ก็ไม่แพง แค่คนละ ๒๐ บาทเท่านั้น จอดรถฟรี  ความรู้ที่ได้ไป เกินคุ้มค่ะ

วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เรียนสนุกในโลกกว้าง สนุกกับวิถีไทยที่อัมพวา

ดิฉันและสามี เคยปรึกษากันมานานแล้ว ว่าหากมีโอกาสย้ายกลับมาเมืองไทย อยากพาลูกไปเรียนรู้ชีวิตของคนไทยในภาคต่างๆ รู้จักวัฒนธรรม มรดกอันล้ำค่าของชาติ ในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา ดิฉันและสามีมีวันหยุดสามวันติดต่อกัน จึงได้วางแผนพาลูกไปพักค้างคืนที่ อำเภออัมพวา  ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพเลย มีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพง แต่ได้รับความสุขรื่นรมย์ที่หลากหลาย  ที่ลูกๆยังไม่เคยสัมผัสจากการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆมาก่อน

ก่อนเดินทาง ดิฉันได้ให้ลูกศึกษาจากยูทูป เพื่อดูเรื่องราวของหิ่งห้อย แมลงตัวน้อยที่สามารถส่องแสงด้วยตัวเอง  และศึกษาจากหนังสือ เรื่อง The Big book of Why  ซึ่งให้คำอธิบายว่า ทำไม หิ่งห้อยจึงสามารถส่องแสงด้วยตนเองได้ เพราะอะไร  รวมทั้งศึกษาแผนที่ประเทศไทย แผนที่อัมพวา  และเรื่องราวของสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆในเมืองอัมพวา  เช่น อุทยาน ร.๒ และ ตลาดน้ำ และเปิดเพลงอัมพวา ของสุนทราภรณ์ให้ลูกฟังด้วย เป็นการปูพื้นความรู้ก่อนการเดินทาง  เด็กๆจะได้เตรียมตัว เตรียมใจ รับความสนุกพร้อมกับเรียนรู้อย่างเต็มที่

ในการเดินทางครั้งนี้ ลูกๆได้เรียนรู้เรื่องราวมากมาย ทั้งเรื่องเครื่องดนตรีไทย เครื่องดนตรีฝรั่ง อาหารไทย ประเพณีการทำบุญตักบาตร  บ้านทรงไทย วรรณคดีไทย ประวัติและผลงานของศิลปินเอกหลายท่าน ชีวิตไทยพื้นเมืองในยุคหลายสิบปีก่อน อาหารไทย ขนมไทย และเรื่องของปลาทู และหิ่งห้อย

หิ่งห้อยตัวน้อย ที่ปล่อยแสงในยามค่ำคืน เพื่อแสดงให้เพศตรงข้ามรู้ว่า พร้อมที่จะผสมพันธุ์แล้ว

แผนที่ประเทศไทย และแสดงตำแหน่งจัำงหวัดสมุทรสงคราม สอนลูกเรื่องโครงสร้าง ประเทศ จังหวัด อำเภอ ไปด้วย

หิ่งห้อยเป็นหนึ่งในสัตว์ ประเภท bioluminescent ซึ่งเรืองแสงได้จากปฎิกิริยาเคมีในร่างกาย ที่เกิดขึ้นเมื่อต้องการผสมพันธุ์

ตลาดน้ำอัมพวา ที่สนุกแต่เช้ายันค่ำคืน

มารู้จักกองฟาง

อุทยาน ร. ๒ มรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าของชาติ