รูปจากอินเตอร์เนต
ช่วงนี้ดิฉันกำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการโฮมสคูลสำหรับเด็กประถมขึ้นไป เผื่ออาจจะต้องใช้ ก็ไปเจอข้อมูลที่คุณอ๊อด แม่น้องปาล์มเขียนไว้ในเวบของคุณนำทาง เอามาเก็บไว้แถวนี้ เผื่อใครจะใช้ได้
เรื่องข้อกฏหมายที่ป้าธรถามมา คงเกี่ยวกับ พรบ การศึกษาภาคบังคับ ก็จะมีพวกค่าปรับสำหรับเด็กที่ไม่ได้เข้า รร น่ะค่ะ แต่พอดี แม่น้องปาล์มไม่ได้สนใจตรงนี้ จะมีจดหมายขู่เข็ญมากี่ฉบับจากเขตก็ปล่อยผ่านไป ปรับปีหนึ่งก็ไม่กี่บาท พอรับไหว แต่เค้าไม่ได้ตามจิกหรอกค่ะ บางบ้านตกสำรวจด้วยซ้ำ ไม่ต้องซีเรียส
ส่วนเรื่องวุฒิการศึกษา สำหรับผู้ที่ต้องการเพื่อนำไปใช้ซึกษาในระบบต่อก็ทำได้หลายวิธี เช่น
1.ไปขึ้นทะเบียนกับเขตการศึกษาที่มีชื่อในทะเบียนบ้านอยู่ ว่า ต้องการจัดการศึกษาโดยครอบครัว ทางเขตจะจัดเจ้าหน้าที่เพื่อมาติดตามวัดผล ประเมินผลตามช่วงชั้นการศึกษา ช่วงชั้นละ 3 ปี คือ ป.1-3 , ป.4-6 , ม.1-3 , ม.4-6
ทาง ผปค จะต้องจัดทำแผนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการเกณฑ์ประเมินผลของเจ้า หน้าที่ .................วิธีนี้ น้องปาล์มไม่ได้ใช้ค่ะ
2.นำชื่อไปฝากไว้กับ รร ที่คุยกันเข้าใจ ว่าลูกเราจะไม่มาเรียนนะ แต่จะมาร่วมสอบหรือวัดผลรายปีเพื่อเลื่อนระดับชั้น อาจจะต้องเสียค่าเทอมหรือค่ากิจกรรมเหมือนเด็กคนอื่นใน รร นั้น ๆ .............วิธีนี้ น้องปาล์มก็ไม่ได้ใช้ค่ะ
3.ไปสอบเทียบหรือวัดผลกับข้อสอบวัดผล ตปท เช่น อเมริกา แล้วนำผลกลับมาเทียบโอนในไทย มีสอบออนไลน์ด้วยค่ะ
ข้อดี - สะดวก รวดเร็ว
ข้อเสีย - ผู้สอบต้องใช้ภาษาอังกฤษในระดับอ่านออกเขียนได้ ตามระดับการศึกษาที่ไปสอบ ตั้งแต่เกรด 1 - 12 หรือ ป.1- ม.6 นั่นเอง และมีค่าใช้จ่ายในการข้อเข้าสอบแต่ละครั้งแพงเอาการค่ะ
.....................วิธีนี้ น้องปาล์มก็ไม่ได้ใช้เหมือนกันค่ะ
4.ไปรอสอบเทียบกับ กศน เอาวุฒิ ป.6 , ม.3 , ม.6 เมื่ออายุครบตามเกณฑ์ที่ให้สอบได้ คือ 16 ปี............แม่ปาล์มเลือกวิธีนี้ไว้ค่ะ ตอนนี้เลยไปเรื่อย ๆ เรียนมั่งเล่นมั่งเที่ยวมั่งช่วยแม่ทำงานมั่ง เอาแค่ปาล์มอ่านออกเขียนได้ แม่ก็ดีใจจะแย่แล้ว
4 ความคิดเห็น:
วันจันทร์ที่ 7กุมภาพันธ์พ.ศ.2543
วาง '7แนวทาง' พ่อแม่จัดกศ.ลูก
สช.จับมือภาคเอกชน กำหนดแนวทางสำหรับพ่อแม่ ในการจัดการศึกษาให้ลูก ได้ข้อสรุป 7 ประเด็นหลัก เตรียมนำไปจัดประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อ ที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2543 นี้ พร้อมเสนอให้คณะกรรมการยกร่างกฎกระทรวงตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ นำไปออกกฎกระทรวงต่อไป
ดร.จรวยพร ธรณินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการระดมความคิดเห็น เกี่ยวกับการจัดการศึกษาของภาคเอกชนทั้งหมด ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติว่า สามารถสรุปประเด็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของพ่อแม่สอนลูกได้ถึง 7 ประเด็นด้วยกัน
โดยประเด็นแรก ให้มีการแจ้งจดทะเบียนเป็นศูนย์การเรียนกับสำนักงานการศึกษาเขตพื้นที่ และโรงเรียนใกล้เคียงซึ่งเป็นโรงเรียนพี่เลี้ยงหรือโรงเรียนแม่ข่าย ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงาน และการขอรับเงินอุดหนุนเพื่อไปใช้แหล่งความรู้ต่างๆ จากภาครัฐได้
ประเด็นที่ 2.กำหนดวุฒิความรู้ของบิดามารดา ดังนี้ การจัดการเรียนการสอนในระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา พ่อแม่ควรมีความรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีคุณสมบัติอื่นๆ ประกอบการพิจารณาด้วย เช่น ความพร้อมด้านเศรษฐกิจของพ่อแม่ ความเหมาะสมของสถานที่ ความมุ่งมั่นและเวลาที่จะดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ ที่จะสอนหนังสือให้ลูก เป็นต้น
ประเด็นที่ 3.การกำหนดหลักสูตรให้กำหนดหลักสูตร Home School ขั้นต่ำไว้สำหรับพ่อแม่ที่ต้องการใช้หลักสูตรมาตรฐานหรือให้บิดามารดาที่ ต้อง การจัดเองเสนอกรอบหลักสูตรให้หน่วยงานรับผิดชอบตรวจสอบก่อน
ประเด็นที่ 4.ให้มีการวัดผลและการประเมินผลการจัดการเรียนการสอนสำหรับการศึกษาพ่อแม่ สอนลูก เพื่อให้สังคมเกิดความเชื่อมั่นต่อการจัดการศึกษาประเภทนี้ และจัดให้มีระบบการเทียบโอนผลการเรียนที่นักเรียนสามารถกลับเข้ามาเรียนใน ระบบอื่นๆ ได้ตลอดเวลา สำหรับการวัดผลและประเมินผลให้มีการจัดการประเมินผล โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมกับบิดามารดาที่จัดการศึกษา
ประเด็นที่ 5.การตรวจสอบการบริหารจัดการ จัดให้มีครูที่ปรึกษาหรือ ศึกษานิเทศก์ออกตรวจเยี่ยม และจัดให้มีการนิเทศเพื่อการช่วยเหลือ ติดตามเป็นระบบ เพื่อให้มีการเก็บรวบรวมหลักฐาน หรือแฟ้มสะสมผลงานนักเรียน
ประเด็นที่ 6.การกำกับมาตรฐานคุณภาพ หากกรณีที่เด็กสอบไม่ผ่านการประเมินผลจากการจัดการศึกษาของบิดามารดา รัฐมีสิทธิสั่งยกเลิกการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว และให้เด็กนักเรียนกลับเข้าเรียนในระบบอื่นได้
ประเด็นที่ 7.การใช้ทรัพยากรของชุมชนและโรงเรียนด้านการเรียนการสอน จัดให้มีเอกสาร ตำราเพื่อการเรียนการสอน และส่งเสริมการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน รวมทั้งให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับบิดามารดา ที่จัดการศึกษาสำหรับลูก และจัดให้มีสถาบันทรัพยากรสำหรับการศึกษาทางเลือกสำหรับบิดามารดา ที่ผู้เรียนจะใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้ทั่วไป ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภาคเอกชนในการดำเนินงาน
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชนกล่าวสรุปท้ายด้วยว่า ประเด็นสำคัญจากการระดมความคิดของการจัดการศึกษา Home School ในครั้งนี้ จะนำไปจัดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมในจุดต่อไปที่โรงแรม เชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ 13 กุมภาพันธ์ 2543 นี้ และจะเสนอให้คณะกรรมการยกร่างกฎกระทรวงตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ นำไปออกกฎกระทรวงต่อไป
วันพุธ ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2543
พลิกอดีตโฮมสคูลไทย ฟื้นสิทธิพ่อแม่จัดการศึกษาโฮมสคูล เชื่อมั่นในศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กๆ
ระหว่างที่ความเป็นไปได้ของการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ Home School ในประเทศไทย กำลังอยู่ในขั้นตอนจัดทำกฎรอง เพื่อรับกับกฎหมายแม่บททางการศึกษาซึ่งเพิ่งประกาศใช้เมื่อปีที่ผ่านมา ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) สนับสนุน ยุทธชัย-อุทัยวรรณ เฉลิมชัย และ กลุ่มบ้านเรียนปัญญากร ให้ทำวิจัยเรื่อง "รูปแบบและพัฒนาการจัดการศึกษาโดยครอบครัวในสังคม" โดยกลุ่มของผู้วิจัยก็กำลังเตรียมจัดการศึกษาให้กับลูกๆ หลานๆ ด้วยเช่นกัน
ผู้วิจัยค้นข้อมูลเรื่องการศึกษาไทย พบว่า ตั้งแต่ปี 2464 ที่รัฐเริ่มจัดการศึกษาภาคบังคับให้พ่อแม่ทุกคนต้องส่งลูกไปโรงเรียน จากก่อนหน้านั้น การเรียนรู้เคยอยู่ที่บ้านและวัด มีข้อมูลจากโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จ.กาญจนบุรี ว่า ในช่วง 10 ปีมานี้ ราว 30 ครอบครัวได้ทำโฮมสคูล โดยนำชื่อเด็กไปฝากที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก พวกเด็กๆ เลยรับวุฒิการศึกษาจากกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เพื่อไปเรียนต่อระดับสูงได้ แม้ยังไม่มีกฎหมายให้สิทธิโฮมสคูลอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
ยุทธชัย-อุทัยวรรณ ใช้ 10 กรณีศึกษา เพื่อนำเสนอในรายงาน พบว่า มีหลายสาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ตัดสินใจจัดโฮมสคูล ที่สำคัญเป็นเรื่องปรัชญา-แนวคิดทางการศึกษา ที่พ่อแม่โฮมสคูลมักมีความเชื่อต่างไปจากการศึกษา "กระแสหลัก"
อย่างครอบครัวของ พิภพ-รัชนี ธงไชย ผู้ก่อตั้งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ด้วยแนวคิดการศึกษาของโรงเรียนซัมเมอร์ฮิลล์ ที่เน้นเสรีภาพในการเรียนรู้ของเด็ก และปฏิเสธการใช้อำนาจโดยผู้ใหญ่ จึงเริ่มจัดโฮมสคูลให้ลูกชาย 2 คนมาตั้งแต่ปี 2522 พร้อมๆ กับการตั้งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก นับเป็นโฮมสคูลไทยรุ่นบุกเบิก ตอนนี้ ลูกคนโตอายุ 30 ปี เรียนจบปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ส่วนคนเล็กอายุ 25 ปี ได้ปริญญาตรี จากสถาบันราชภัฏสวนสุนันทา
หรืออาจเป็นพ่อแม่ที่มีความเชื่อ-แนวทางชีวิต ที่ไม่สอดคล้องกับการศึกษาในระบบโรงเรียน เช่น ครอบครัว ชุตินธร ที่ศรัทธาในศาสนาคริสต์นิกายเซเว่นเดย์ แอดเวนติสต์ และเชื่อว่า การให้การศึกษาแก่ลูกเป็นสิทธิและหน้าที่โดยชอบธรรมของพ่อแม่ รัฐไม่มีสิทธิที่จะผูกขาด โดยเฉพาะถ้าพ่อแม่ยืนยันจะใช้สิทธิ รวมทั้งเชื่อว่า การศึกษาต้องมุ่งที่คุณธรรมมากกว่าตัวความรู้ โดยจุดหมายสุดท้าย คือ ความศรัทธาในพระเจ้าและชีวิตอันเป็นนิรันดร์ น.พ.โชติช่วง และภรรยาจึงจัดโฮมสคูลให้ลูกมาตลอด ตอนนี้ลูกคนโต อายุ 21 ปีกำลังเรียนมหาวิทยาลัยในสหรัฐ คนรองเรียนมหาวิทยาลัยมหิดล นานาชาติ และคนเล็กอยู่เกรด 11 โรงเรียนนานาชาติ
เด็กบางคนก็มีลักษณะเฉพาะที่ต้องการการดูแลและจัดการศึกษาให้เป็นพิเศษ อย่างครอบครัวของ "น้องโจ" ด.ช.กษิดิ์เดช คุณวัฒนาการ เด็กอัจฉริยะที่โด่งดังจากการปรากฏตัวในรายการ "เจาะใจ" เมื่อหลายปีก่อน ด้วย ความปราดเปรื่องด้านอิเล็กทรอนิกส์ ในวัยเพียง 9 ปี แต่ชีวิตจริง น้องโจ และคุณแม่กลับต้องเผชิญปัญหาสารพัด เพราะทางโรงเรียนไม่สามารถรับมือกับเด็กสมาธิสั้น ที่แม้จะเฉลียวฉลาดเป็นเลิศ แต่เป็นเด็กมีปัญหาในสายตาคุณครู คือ "ความซุกซน อยู่ไม่สุข เบื่อง่าย ไม่เชื่อฟัง ขี้โมโห ก่อกวน" คุณครูที่ต้องดูแลเด็กหลายสิบคนดูแลโจไม่ได้แน่ ที่สุดคุณแม่จึงต้องจัดโฮมสคูล
สาเหตุอื่นๆ อาจเป็นเรื่องของพ่อแม่ที่มีประสบการณ์การใช้ชีวิตในต่างประเทศ ได้ซึมซับแบบอย่างของการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ สนองต่อการเรียนรู้ที่แท้จริงมากกว่า บางครอบครัว ลูกๆ ประสบปัญหาความรุนแรง ล่วงเกิน ถูกทำร้ายทางจิตใจจากระบบ หรือบุคลากรในโรงเรียน เมื่อไม่สามารถหาโรงเรียนที่ "ไว้ใจได้" ก็เป็นเหตุให้พ่อแม่ตัดสินใจทำโฮมสคูล
จากการรวบรวมข้อมูล พบว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ของกรณีศึกษามีความรู้ระดับปริญญาตรี มีฐานะปานกลาง และมีเวลาให้กับลูก โดยทุกครอบครัวจะมีคนใดคนหนึ่ง ไม่พ่อก็แม่ที่จะปลีกเวลาจากงานอาชีพที่ไม่รัดตัวมากนัก หรืออาจเป็นพ่อหรือแม่ที่ไม่ต้องทำงานอาชีพเลยมาดูแลลูกโดยตรง
ในแง่ของรูปแบบการจัดโฮมสคูลในประเทศไทย ผู้วิจัยพบว่า มี 4 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
การจัดโดยมีข้อตกลงร่วมกับทางโรงเรียน ได้แก่ ครอบครัวของ สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ซึ่งดำเนินโครงการ "บ้านป่าแห่งการเรียนรู้" ให้ลูก 3 คน ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยร่วมกับสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอสตึก, สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดบุรี, สำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แบ่งชัดเจนว่า วันจันทร์-พุธ เด็กๆ เรียนวิชาการที่โรงเรียน ส่วนวันอื่นๆ เรียนวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต และการงานพื้นฐานอาชีพกับครอบครัว แต่ที่สุดประสบปัญหาซึ่งเป็นอุปสรรคจนต้องยุติโครงการ คือ ครูและผู้บริหารโรงเรียนไม่เข้าเรื่องโฮมสคูล แต่ที่ยอมร่วมมือเพราะเป็นคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา
ดำเนินการเองโดยครอบครัวเดี่ยว เป็นโฮมสคูลส่วนใหญ่ของไทย
ดำเนินการโดยกลุ่มครอบครัว รูปแบบนี้เป็นความพยายามของกลุ่มบ้านเรียนปัญญากร ที่เบื้องต้นมีสมาชิก 8 ครอบครัว เริ่มรวมตัวกันตั้งแต่กลางปี 2542 โดยแต่ละบ้านมีอิสระในการจัดการศึกษา แต่มีปรัชญา และหลักการพื้นฐานทางการศึกษาร่วมกัน รวมทั้งมีกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมตามที่ตกลงกันไว้
กลุ่มครอบครัวแบบรวมศูนย์การจัดการในที่เดียว เป็นการที่หลายครอบครัวมาจัดการศึกษาให้ลูกหลานร่วมกัน โดยจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียน หรือโรงเรียน โดยครอบครัวจะกำกับดูแลทั้งนโยบายและการบริหารจัดการ ตัวอย่างเช่นสถาบันปัญโญทัย ใต้การดูแลของมูลนิธิวอลดอร์ฟ-ปัญโญทัย ซึ่งครอบครัวของ น.พ.พร-จันทร์เพ็ญ พันธุ์โอสถ จัดการศึกษาให้ลูกๆ และลูกๆ ของกลุ่มครอบครัวที่เห็นด้วยกับแนวทางวอลดอร์ฟ โดยใช้บ้านเป็นทำเลจัดการเรียนการสอน
ส่วนหลักสูตรโฮมสคูล ถ้าเทียบเคียงกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่กำหนดไว้ 3 ระบบ โฮมสคูลของไทยมีทั้ง 3 ระบบ คือ ในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย หรือผสานกันทั้ง 3 ระบบ มีตั้งแต่ที่เป็นแบบแผนที่สุด ไปจนถึงไม่มีแบบแผน หลายครอบครัวเริ่มดูที่สาระหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนสาธิต โรงเรียนนานาชาติ หรือของต่างประเทศ ว่า ลูกต้องเรียนรู้อะไรบ้างในแต่ละวัย แล้วพอนำมาใช้จริงก็จะพลิกแพลงยืดหยุ่นไปตามความพร้อมและความสนใจของลูกเป็น สำคัญ จากนั้น ก็อาจพัฒนาหลักสูตรของครอบครัวขึ้นมา โดยตกลงร่วมกันระหว่างพ่อแม่ลูก แต่บางครอบครัวอาจไม่มีสิ่งที่เรียกว่าหลักสูตรอยู่เลยก็ได้ โดยเชื่อว่า การเรียนรู้ต้องเกิดขึ้นในทุกขณะ
เมื่อถามถึงหลักสูตรของครอบครัว พึ่งอุดม ที่จัดโฮมสคูลให้ ด.ช.ฟ้าใส, ด.ช.สายเมฆ และ ด.ญ.ใบคา คุณแม่ คือ สมพร พึ่งอุดม ตั้งชื่อว่า "เรียนด้วยหัวใจ" เป็นหลักสูตรที่ทุกคนในครอบครัวช่วยกันคิด โดยจะแบ่งเป็นหัวข้อใหญ่และหัวข้อย่อย เช่น หัวข้อใหญ่ '10 นิ้วของฉัน' ประกอบด้วย หัวข้อย่อย คือ ปั้นดิน งานประดิษฐ์ ทำอาหาร ทำของเล่นเอง หรือหัวข้อใหญ่ "อาหารสมอง" ประกอบด้วย อ่านหนังสือ คิดเลข วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ส่วน 'โลกกว้างใหญ่' ประกอบด้วย การไปเที่ยว การฟังเรื่องเล่าจากผู้ใหญ่ ทะเล ภูเขา ฯลฯ แล้วก็มีหัวข้อใหญ่อื่นๆ อีก
"เด็กๆ จะเลือกหัวข้อย่อยได้ตามใจในแต่ละวัน เขาจะเปลี่ยนหัวข้อไปเรื่อยๆ ค่ะเมื่อเขาเบื่อหัวข้อเก่า แต่จะตกลงกันว่า เรื่องที่เป็นหัวข้อหลักจะต้องทำให้ครบในหนึ่งเดือน" สมพร หรือ "ครูส้ม" เล่าให้ฟัง
ด้านกระบวนการเรียนรู้ พบว่า โฮมสคูลในสังคมไทยให้ความสำคัญกับการเคารพ และเชื่อมั่นในศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กๆ และเห็นว่า ต้องเป็นการเรียนรู้ร่วมกันของทั้งครอบครัว และจะต้องเป็นการเรียนรู้อย่างบูรณาการ เรียนรู้ได้ในทุกวิถีทาง รวมทั้ง มองว่า การเรียนรู้เกิดจากและพัฒนาสู่การค้นพบตัวตนของเด็ก เพื่อพวกเขาจะพัฒนาตนไปตามความสนใจ-ความถนัดอย่างเต็มศักยภาพ และสมดุลกับพัฒนาการด้านอื่นๆ แนวทางจัดกิจกรรมจึงเป็นไปอย่างหลากหลาย
อีกประเด็นสำคัญ คือ เรื่องการประเมินผล แนวทางที่เป็นอยู่ขณะนี้ ผู้วิจัยสรุปว่า มีวิธีที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่มีการสังเกตลูกอย่างใกล้ชิด ด้วยวิธีที่เป็นธรรมชาติ โดยมุ่งที่พัฒนาการที่แท้จริงของลูก ไม่เน้นผลการสอบคัดเลือก และดู "กระบวนการ" มากกว่า "ผลลัพธ์" รวมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการประเมินผลด้วยตัวเอง
ผู้วิจัยชี้ว่า การประเมินผลต้องสัมพันธ์กับเป้าหมาย ในเมื่อการศึกษาในระบบที่เป็นอยู่ มีเป้าหมายที่การสร้างคนที่มีคุณภาพมาตรฐานของสังคมในยุคทุนนิยมอุตสาหกรรม เพื่อป้อนแรงงานสู่ระบบการผลิต จึงประเมินความสำเร็จกันตรงประสิทธิภาพ โดยการจัดแข่งขันเพื่อคัดเลือกคนที่สนองประโยชน์ได้ และคัดทิ้งคนที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่ในช่วงสิบปีมานี้ กระแสการศึกษาเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจของมนุษย์ เพิ่มขึ้น การประเมินจึงไม่ได้วัดแค่ความฉลาด ความรู้ หรือความจำ กระนั้น ระบบโรงเรียนที่ถือกำเนิดในยุคอุตสาหกรรมยังยึดแบบแผนวิธีการที่ดูจะขัดแย้ง กับเป้าหมายในการพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์อย่างเป็นองค์รวม
จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า หากโฮมสคูลเป็นคำตอบของแนวคิดในยุคหลัง ที่ให้ความหมายต่อการศึกษาต่างออกไปจากระบบเก่า พ่อแม่โฮมสคูลจะฟันฝ่าวิธีคิดแบบเดิมๆ ที่ติดมากับกลไกจัดการศึกษาแบบราชการไทยไปได้อย่างไร (ซึ่งคงไม่ง่าย ถึง พ.ร.บ.จะเปิดทางไว้ให้แล้วก็เถอะ)
แสดงความคิดเห็น