เรื่องของเทคนิคการเรียนเก่งนี้ ดิฉันได้เขียนเป็นกระทู้ในเวบบอร์ด ห้องเรียนของลูก ของเวบรักลูก ซึ่งเป็นการสรุปและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการอ่านหนังสือ เรื่อง เรียนเ่ก่ง เรื่องกล้วยๆของ อดัม คู เอามาเก็บไว้ในเวบบล็อก ของตัวเอง ก่อนที่ข้อมูลนี้จะสูญหายไปตามกาลเวลา ดิฉันมีความภาคภูมิใจในงานชิ้นนี้มาก เหมือนกับผลงานอื่นๆที่ทำไว้ในเวบบล็อกนี้ ต้องถือว่า ไม่ใช่ง่ายเลยที่ชีวิตจะลงตัว ขนาดที่จะสร้างสรรค์ผลงานแบบนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง ต้องเก็บไว้เผื่อลูกอ่านด้วยค่ะ
16 ความคิดเห็น:
ช่วงเวลาที่ได้กลับไปบ้านหลายสัปดาห์ ดิฉันได้มีโอกาสไปสอยหนังสือที่น่าสนใจหลายเล่ม และหลายๆเล่มที่เลือกนั้น ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับ เทคนิคการเรียน สำหรับพัฒนาลูกๆค่ะ เมื่อมีเวลาอ่านแล้ว ก็รู้สึกคิดถึงเพื่อนๆในห้องเรียนทันที เพราะเพื่อนๆในห้องนี้ล้วนให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูก และการแข่งขัน ด้วยสังคมพาไปให้เป็นเช่นนั้น จึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง รวบรวมข้อมูลจากหลายๆเล่ม มาให้ค่ะ ใครสนใจก็ไปซื้อมาอ่านได้ เพราะดิฉันคงสรุปไม่หมด เลือกมาเฉพาะสิ่งที่ตัวเองสนใจเท่านั้น
กระทู้นี้อาจจะยาวสักหน่อย เพราะอยากรวมหลายๆเล่ม เป็นหมวดหมู่ ใครสนใจก็ตามอ่านได้นะคะ ลองศึกษาดู อะไรนำไปใช้ได้ก็ลองนำไปใช้ดู เหมือนเป็นอาวุธใหม่ หลายๆเล่มก็อยากแนะนำให้ซื้อให้ลูกที่โตพอ ระดับมัธยมอ่านดู เพราะไม่ธรรมดาเลยค่ะ
จะพูดถึงเล่มแรกก่อน คือ "เรียนเก่งเรื่องกล้วยๆ" เป็นหนังสือแปล ที่เขียนโดย Adam Khoo ราคา 180 บาท ใครขี้เกียจรออ่านสรุปของดิฉันก็ หรือ ชอบ ก็รีบไปสอยได้เลยค่ะ หากลูกโตพอประมาณมัธยม ก็ซื้อให้ลูกอ่าน หากลูกเล็ก ก็ลองอ่านแล้วมาสอนลูกดู เป็นหนังสือที่อ่านสนุก อ่านไม่ยาก และไม่ธรรมดา
ประวัติของเด็กหนุ่มคนนี้ ไม่ธรรมดา เขาไม่ใช่คนเรียนเก่งมาแต่กำเนิด ออกจะบ๊วยๆ ตอนประถมด้วยซำ้ ตอนสอบเข้ามัธยมก็สอบเข้าโรงเรียนดังๆไม่ได้ ต้องเรียนโรงเรียนโนเนม สอบได้ที่ไม่ดี แต่ชีวิตพลิกผันกลายเป็นเด็กเรียนเก่ง เมื่อ ป๋าดันของเขา คือพ่อ แทนที่จะส่งเขาไปเรียนกวดวิชา เหมือนพ่อแม่ดันท่านอื่นๆ กลับส่งเขาไปเข้าค่าย Super-teen ซึ่งทำให้เขาได้เรียนรู้เทคนิคการเรียนสมัยใหม่ แต่เขาใช้คำว่า เทคโนโลยี คือ การเรียนรู้แบบเร่งรัด (Accelerated Learning) โครงการประสาทวัจนะ (Neuro-Linguistic Programming) การเรียนรู้ด้วยสมองสองซีก (Whole Brain Learning) เป็นต้น
การเข้าค่ายนี้ ได้ปฎิรูปวิธีการคิด และเรียนรู้เขาทั้งหมด ทำให้เขากลายเป็นคนใหม่ที่เรียนดีขึ้นชนิด พลิกฝ่ามือ เขาสามารถปรับปรุงเกรดเฉลี่ยจาก 52% เป็น 70% ภายใน 3 เดือน และไต่อันดับจากการเรียนในอันดับที่ 138 เป็น 18 อันดับต้นๆ ภายใน 1 ปี ในที่สุด เขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของ สิงคโปร์ได้ และได้เีกียรตินิยมอันดับ 1และได้รางวัลและทุนอีกมากมาย ปัจจุบัน เขาเป็นคนหนุ่ทอายุน้อย ที่เป็นเจ้าของธุรกิจ และ ทำอะไรที่ประสบความสำเร็จอีกมากมาย
เมื่อดิฉันมาอ่านหนังสือเล่มนี้ ทำให้ดิฉันคิดถึงสิ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้จาก Course อบรม Landmark Forum เพราะสิ่งที่เขาเขียนคือ เทคโนโลยีเดียวกัน แต่เขานำมาประยุกต์ใช้กับการศึกษาของเขา การที่เขาปฎิรูปความคิดตนเอง หลังจากเข้าค่ายนี้ มันเปลี่ยนชีวิตเขาทั้งหมด เพราะมันไม่ใช่เป็นเทคนิคที่เขามาปรับปรุงวิธีการเรียนที่มีอยู่ แต่เป็นการปฎิวัติวิธ๊การที่เขาใช้เรียนค่ะ
อดัม คู ได้กล่าวว่า การเรียนรู้ไม่ใช่เริ่มต้นเพียงหนึ่งหรือสองเดือนก่อนวันสอบ แต่เรียนรู้ตั้งแต่วันแรก และสิ้นสุดในตอนที่ทำข้อสอบชุดสุดท้ายเสร็จ ไม่ใช่การมาเตรียมตัวตอนใกล้สอบ หรือ กี่เดือนก่อนสอบ มันไม่ทัน
เขาแบ่งขั้นตอนการเรียนรู้เป็น 3 ขั้นตอน
- ขั้นตอนที่ 1 คือ การรู้จักเทคนิคการเรียนรู้อย่างถ่องแท้ อันนี้ เขาจะพูดถึง Mind mapping ซึ่งน่ายินดีที่โรงเรียนอนุบาลแนว เตรียมความพร้อมหลายๆแห่ง โดยเฉพาะแนว Project Approach ได้นำเทคนิคนี้ มาสอน เด็กๆอนุบาล ที่ดิฉันเห็นกับตาตัวเองคือ ที่โรงเรียนอนุบาลมณีรัตน์ อนุบาลกุ๊กไก่ เป็นต้น มีการสอนเด็กๆให้ทำ Mind Mapping พ่อแม่ ที่ลูกเรียนรู้แบบนี้ อย่าทิ้งนะคะ ให้สอนลูกให้ใช้เทคนิคนี้ ไปจนโต แม้จะย้ายโรงเรียน ก็ให้ทำไปด้วย ทำไปจนชิน เป็นเทคนิคการจดบันทึกที่ดีมากๆ
- ขั้นตอนที่ 2 คือ การเดินทางสู่ความสำเร็จ
ในเรื่องนี้ เขาพูดถึง การเพิ่มพลังสู่ความสำเร็จในการเรียน แต่สำหรับดิฉัน มันเป็นการเพิ่มพลังสำหรับชีวิตด้านอื่นๆด้วย เช่น ความรัก การงาน การเงินเป็นต้น หากคุณทำได้ คุณอยากจะสำเร็จเรื่องใดก็ได้ สมปรารถนา การเพิ่มพลังสู่ความสำเร็จ ก็คือ การตั้งเป้าหมาย และกำจัดนิสัยชั่วร้ายอันเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จ และเีรียนรู้ว่าจะจูงใจตัวเองอย่างไร ให้รักษาความสมำ่เสมอ และการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ตลอดจนการนำทรัพยากรในตัวของเรา มาทำให้เราบรรลุเป้าหมาย
อันนี้จะมีรายละเอียดมาเล่าทีละเรื่องอีกทีค่ะ
-ขั้นตอนที่ 3 คือ ทักษะการสอบ
ซึ่งเขาจะพูดถึงการเตรียมตัวสอบ ที่ทำให้มีพลังพร้อมสูงสุด และทำอย่างไร ในสภาพกดดันของการสอบ ซึ่งน่าสนใจและดีมากๆทีเดียว เท่าที่อ่าน ก็อาจจะเป็นเทคนิคที่เด็กๆที่เก่งบางคน เจนสนามสอบ พ่อแม่มีสอนไว้แล้ว แต่ก็มีรายละเอียดอื่นที่อาจจะนำมาใช้ได้
ดิฉันชอบหนังสือเล่มนี้ เพราะ แทนที่เขาจะเขียนไปเรื่อยๆ เขาจะมีแบบฝึกหัด ให้ลองคิด ลองทำตาม ซึ่งหากหนูๆลองทำตาม ก็จะเห็นอะไรบางอย่างในตัวเอง ที่เป็นอุปสรรค ที่ขัดขวางทำให้ตัวเองไม่สำเร็จ หรือ อะไรที่เป็นจุดดีของเรา ที่เราไม่เห็น หรือคิดไม่ถึงมาก่อน
หากเราอ่านไปเรื่อยๆ เราก็แค่รู้ แต่หากลองทำแบบฝึกหัดที่เขาถามในหนังสือ เราจะไม่แค่รู้ แต่ได้ลิ้มรส สัมผัสความรู้สึกในเนื้อหามันได้เลยค่ะ
ลองทำดูดีไม๊คะ เช่น
ลองเขียนออกมาสิคะ ว่า คุณคิดว่าอะำไรที่สกัดกั้นไม่ใ้ห้คุณประสบความสำเร็จในการเรียนตอนนี้ ลองเขียนมาให้หมดเลยค่ะ เช่น ความจำไม่ีดี ครูสอนไม่เก่ง อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง ง่วงนอน ขี้เกียจ อยากอ่านการ์ตูน เป็นต้น
ลองเขียนออกมาสิคะ ว่า คุณคิดว่า คุณต้องใช้ทักษะอะไรบ้างที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จนี้ เช่น ทักษะการอ่าน การบริหารเวลา เป็นต้น
อดัม คู บอกว่า ให้เก็บ List อันนี้ไว้ค่ะ และลองทำเครื่องหมาย X หากคุณได้กำจัดอุปสรรคออกไปแล้ว หรือ ทำเครืองหมาย ถูก หากได้สร้างทักษะใหม่มาแล้ว หลังจากอ่านหนังสือของเขา
แบบฝึกหัดแบบนี้ จะมีเรื่อยๆค่ะ ในหนังสือนี้ ทำให้เหมือนถูกจับมือสอน
ก่อนที่จะไปถึงเทคนิค 3 ขั้นตอน อดัม คู ปูพื้นด้วย การฟื้นฟูพลังแห่งความคิด
เขาบอกว่า กลยุทธ์แรกที่สำคัญของความสำเร็จคือ "ต้องบอกตัวเองอย่างเชื่อมั่น ว่า คุณเป็นเด็กเรียนเก่ง เกรด 4 ไ้ด้"
อ้างอิงจาก:
มุมมองเรื่องความสามารถของเรานั้น กำหนดทัศนคติและการกระทำของเรา และเป็นเครื่องตัดสินผลลัพท์ว่าดีหรือไม่
หากเราำไม่เคยคิดว่า เราจะทำได้ เราก็จะไม่เสียเวลาทำ ไม่เสียเวลาลอง เพราะคิดว่า ยังไงก็คงเป็นไปไม่ได้ ไม่พยายาม ดังนั้น คนที่ทำลายความสำเร็จของเรา ก็คือ ความคิดของเราเอง ทัศนคติที่เรามีต่อตัวเองนั้นเอง
อดัม คูได้เล่าเรื่องของเขาไว้น่าสนใจ ว่า ตอนเด็กๆเขาเป็นเด็กที่อ่อนคณิตศาสตร์มาก เขาท่องสูตรคูณไม่ได้ เพราะเขาไม่เข้าใจ ว่า การคูณคืออะไร
พ่อแม่ของเขามักจะตำหนิ และหงุดหงิดว่า ทำไมง่ายๆแค่นี้ เขาทำไม่ได้ ทำให้เขาหมดความเชื่อมั่น และเห็นวิชาเลข เป็นเรื่องน่ากลัว ไม่ชอบ เมื่อถึงเวลาเรียนเลข เขาก็จะใจลอบ เรียนแบบไม่เข้าหัว เพราะเขาคิดว่า เขาอ่อนเลข และเขาก็สอบตกวิชาเลขจริงๆ
สิ่งที่เขาแบกไว้ตลอดมา คือ เขาตกเลข และเชื่อว่าเขาเรียนอ่อนเลขจริงๆ
วันหนึ่ง คุณครูมีกำหนดให้มีการย่อยเรื่องหน้าที่ของจำนวนเลข เขาอ่านหนังสือหนักมาก และพยายามทำความเข้าใจกับบทเรียน ก่อนเข้าห้องเรียน ปรากฎว่า มีเพียงเขาคนเีดียวที่ตอบครูได้ เพราะเพื่อนๆไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนเข้าเรียน ในวินาทีนั้น เขาก็เริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ ว่า เขาเองก็เรียนดีได้เหมือนกัน
ความรู้สึกนี้เป็นจุดสำคัญ คือเขาเริ่มเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับตัวเอง ว่า เขาเก่ง เขาทำได้ เป็นไปได้สำหรับเขา อันนี้เป็นพลังที่เขาใช้เป็นเครื่องผลักดันความสำเร็จเช่นกัน
เรื่องหนึ่งที่อยากชี้ให้เห็นในประเด็นนี้ คือ พ่อแม่ค่ะ พ่อแม่ของอดัม คู มักหงุดหงืด และตำหนิเขาที่เขาท่องสตรคูณไม่ได้ ปฎิกิริยานี้ ทำให้อดัม มีความฝังใจ ว่าเขาเป็นเด็กที่เรียนไปเอาไหน และทำให้เรียนตกตำ่มาตลอด
ซึ่งเป็นมุมที่เราต้องระมัดระวัง ในการดูแลลูก และการให้กำลังใจลูก คนเรามักจะเชื่อว่า เราเป็นคนอย่างไร ทำอะไรได้ หรือ ไม่ได้ เก่งเรื่องนี้ ไม่เก่งเรื่องนั้น จากคำบอกเล่าของคนรอบข้าง เช่น พ่อแม่บอกว่า เราวาดรูปเก่ง แต่เรียนไม่เก่ง ครูบอกว่า เราเป็นเด็กเกเร เพื่อนๆบอกว่า เราเป็นคนที่ห่วยมาก เป็นต้น เราก็จะคิดว่า เราเป็นคนเรียนไม่เก่ง เกเร และนิสัยห่วย แต่วาดรูปเ่ก่ง ซึ่งมุมมองแบบนี้ ทำให้เราติดกับดักไปตลอด คิดว่า การเรียนเก่ง การเป็นคนดี เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และไม่ใช่สำหรับเรา เราถูกสาบมาเรียบร้อยแล้ว ให้เกิดมาเป็นคนโชคร้าย เรียนแย่ แถมยังนิสัยไม่ดีอีกด้วย
หากเพื่อนๆลองมองดูสิคะ รอบๆตัวเรา แม้แต่ตัวเรา หรือ ลูกของเรา มีความรู้สึกถูกสาบแบบนี้หรือเปล่า มีใครคิดหรือเปล่า ว่า ตัวเองเป็นคนล้มเหลว ทำงานก็ไม่สำเร็จ แถมยากจน หรือลูกๆ คิดว่า ฉันเรียนไม่เก่ง เป็นเด็กไม่ดี หากคิดเชิงลบแบบนี้ ไม่ Work ค่ะ ต้องรีบซ่อมแซมทัศนคติโดยด่วย
คนทุกคนมีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น เด็กๆทุกคนเกิดมา แม้แต่หน้าตาก็ดูคล้ายๆกัน บางทีไปดูที่ห้องคลอด ยังมองไม่รู้ว่า คนไหนลูกเรา เด็กๆทุกคนมีศักยภาพทัดเทียมกัน และเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น จะยิ่งใหญ่ หรือประสบความสำเร็จได้ทุกคน แต่เมื่อเติบโตขึ้น ก็จะแตกต่างกัน เพราะ สิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน ทำให้มีทัศนคติต่อตนเอง และมุมมองชีวืตที่ต่างกัน หากอยู่ในสิ่งแวดล้อมไม่ดี มีพ่อแม่คนเลี้ยงดู ที่ไม่มีวิธีคิด ก็จะว่าเด็กแรงๆ เช่น แกมันโง่ ไม่เอาถ่าน ทำไมดื้อแบบนี้ เป็นต้น เด็กก็จะเห็นตัวเองว่า ตัวเองโง่จริง ไม่เอาถ่าน ไม่เอาไหน ดื้อด้าน และเขาก็จะเป็นแบบนั้นไปจริงๆ อะไรที่เป็นสิ่งดีๆ ก็ไม่ทำ เพราะมันไม่ใช่เขา สำหรับเขามันต้องเรื่องไม่ดีเท่านั้น
การซ่อมแซมทัศนคติให้ดี อาจจะต้องใช้เวลา แต่เราต้องทำเสมอ คือ เราต้องหัดชื่นชมตนเอง และชื่นชมลูก ชื่นชมผู้อื่น ชื่นชมตัวเองบ่อยๆ ว่า คุณเป็นคนเก่ง เป็นคนมีนำ้ใจ มีความสามารถ คุณทำได้ คำชื่นชมแบบนี้ จะทำให้คุณมีกำลังใจ และโน้มนำให้คุณทำแต่สิ่งที่เป็นคุณกับตัวเอง อดทน มีมานะ แม้จะยากลำบาก เพราะคุณเป็นคนเก่ง และมีความสามารถ และเมื่อคุณทำดี หรือ ทำอะไรที่สำเร็จ แม้แต่เล็กน้อย ก็จงชืนชมตัวเอง ยินดีกับตัวเอง มันจะสร้างพลังใจให้คุณได้ค่ะ
การที่คุณชื่นชมผู้อื่น หรือชื่นชมลูกเสมอ ก็เหมือนกระจกให้เขา เห็นความยิ่งใหญ่ และความงดงามในตัวของเขาเช่นกัน เขาจะเห็นความสามารถ ความเป็นไปได้ของเขาเอง อย่าได้กล่าวตำหนิ ว่า ลูกโง่ ลูกเลว ดื้อ ไม่เอาไหน เพราะเขาก็จะเชื่อว่าเขาเป็นเช่นนั้น อันจะนำพาเขาสู่ความหายนะของอนาคตได้ แต่ไม่ได้บอกว่า ให้ชื่นชมยามที่ลูกทำไม่ถูก เพราะเขาก็จะไม่รู้ แต่ลองใช้วิธีชี้แนะ ว่า
ลูกลองทำแบบนี้ดูไม๊ แบบนี้ น่าจะดีนะ แบบนี้ดี น่ารัก และเป็นตัวลูกจริงๆ
ใช้เทคนิคประมาณนี้ในการปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ของลูก หรือ คนรอบข้าง
ดิฉันเชื่อว่า เพื่อนๆหลายคนคงเคยทราบว่า อัลเบร์ต ไอน์สไตน์เอง ก็เคยได้รับคำปรามาส จากคนรอบข้าง ว่าเป็นเด็กหัวทึบ เรียนหนังสือไม่ได้ เป็นคนโง่ และโรงเรียนไม่รับสอน แต่แม่ของเขา เป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่น ว่าลูกไม่เป็นเช่นนั้น เธอเป็นคนลงมือสอนและให้กำลังใจเขาด้วยตนเอง จนเขาได้เป็นอัจฉริยะผู้ยิ่งใหญ่ และสร้างผลงานชิ้นสำคัญให้แก่มนุษยชาติมากมาย
ยังมีคนอีกมากมาย ที่สามารถพลิกชีวิตได้ เพียงแค่เขาเปลี่ยน ความเชื่อ เกี่ยวกับตัวเองเท่านั้น
ความเชื่อของนักเรียนเหรียญทอง 5 ประการ
1. ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม ฉันต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน
2. ไม่มีความล้มเหลว มีแต่ผิดเป็นครู
3. ถ้าคนอื่นทำได้ คุณก็ทำได้
4. เรียนเป็นเล่น-เล่นเป็นเรียน
5. ความยืดหยุ่นจะช่วยให้คุณควบคุมสถานการณ์ได้
อันนี้ อดัม คู บอกไว้ค่ะ
ในหน้าที่ 37 ของหนังสือเล่มนี้ อดัม คู ได้เล่าถึงเรื่องราวของเด็กคนหนึ่ง ที่น่าสนใจ เป็นเรื่องราวเหมือนคนหลายๆๆๆๆคนที่ดิฉันเคยพบเจอในหลักสูตร Landmark Forum ดิฉันจึงเข้าใจประเด็นที่เขาพูดถึง ชนิดไหลอยู่ในสายเลือด เพราะดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นแบบนี้มาก่อน
เขาเล่าถึงเด็กคนหนึ่ง อายุ 16 อารมณ์ร้าย ขี้หงุดหงิด และพูดจาไม่เข้าหูพ่อแม่ เขารู้สึกว่า พ่อแม่ไม่ไว้ใจเขา และชอบบังคับให้เขาทำอะไรที่ไม่เข้าท่า
ดิฉันเองก็เป็นไม้เบื่อไม้เมากะพ่อแม่ ต่อต้านกันสุดๆ เป็น Problem Child เหมือนกัน เรียนก็ห่วย ไม่ได้เรื่อง นืสัยก็ไม่ค่อยจะดี ก้าวร้าว ดิฉันนี่ก็ถือว่า เป็นฝันร้ายของคนเป็นพ่อเป็นแม่เหมือนกัน แต่ที่เด็กคนนั้น โชคดีกว่า ดิฉันที่เขาค้นพบตัวเอง และวิธีพลิกชีวิตตัวเอง ตอนอายุ 16 ปี ในขณะที่ดิฉันต้องรอจนอายุ 38 ปี จึงเจอว่า ตัวเองก็เก่งได้ ดีได้ สำเร็จได้ ความล้มเหลว ชั่วร้าย เลวทราม มิได้คู่ควรกับดิฉันแม้แต่น้อย ที่จริงแล้ว ความล้มเหลว ชั่วร้าย เกเร ก้าวร้าว สารเลว ไม่ได้ คู่ควรกับใครเลยด้วยซำ้ ไม่มีเด็กคนใด ที่ควรถูกประนาม หรือ มองตัวเองเช่นนั้น
อดัม คู บอกเด็กคนนั้นว่า "เขาต้องรับผิดชอบต่อการที่พ่อแม่ไม่ไว้ใจเขา ถ้าเขาต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เขาต้องเปลี่ยนพฤติกรรมก่อน"
ประเด็นคือ เด็กคนนี้ มักกลัับบ้านดึกไม่ตรงเวลาที่พ่อแม่กำหนด ทำให้พ่อแม่ไม่ไว้ใจ เขาไม่รับผิดชอบกับชีวิตตัวเอง ไม่ช่วยเหลือพ่อแม่รับผิดชอบงานบ้าน ต้องให้พ่อแม่คอยจำ้จี้ จำไชในการอ่านหนังสือ ทำการบ้าน ซึ่งทำให้พ่อแม่เห็นว่า เขาไม่เอาำไหน ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก ไม่ดี มีแต่คำพรำ่บ่น ไม่ไว้ใจ ทำให้เขาหงุดหงิด อารมณ์ร้าย ไม่มีความสุข
แต่เมื่อภายหลัง เขาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเอง คือ ช่วยแม่ทำกับข้าว ทำความสะอาดห้องนอนตัวเอง หรือ เมื่อถึงวันที่พ่อแม่อนุญาตให้ไปดูหนังกับเพื่อนได้ หากเขาติดสอบ เขาก็จะไม่ไป เอาเวลาไปทบทวนหนังสือ
เมื่อเขาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเอง มุมมองและทัศนคติที่พ่อแม่ มีต่เขาก็เปลี่ยนไป พ่อแม่เริ่มยอมรับว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ขึ้น และเริ่มเชื่อมั่นและไว้ใจในตัวของเขามากขึ้น และให้อิสระเขามากขึ้น
เรื่องเทคนิคที่อดัมเขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ ก็คือเทคนิค แต่มันไม่ใช่เทคโนโลยี มันคือเครื่องมือหลายๆอย่างที่มีอยู่แล้วในโลกของการเรียน อาจจะเป็นเครื่องมือใหม่ หรือ เครื่องมือที่ไม่ค่อยหยิบใช้กัน เช่น พวก Mind mapping หรือ วิธีการเตรียมตัวสอบ เทคนิคการทำข้อสอบ ที่ทำข้อง่ายก่อน เก็บข้อยากไว้ทีหลัง อะไรแบบนี้ สิ่งที่ทำให้งานเขียนของเขานี้ กลายเป็นเทคโนโลยีของการเรียนรู้แบบใหม่ เหมือนการปรับเปลี่ยนการใช้เชิ้อเพลิง จากพลังไอน้ำ เป็น น้ำมัน หรือเป็นการใช้พลังงานนิวเคลียร์ คือ การเปลี่ยนทัศนคติ การสลัดมุมมองที่เรามองตัวเองแบบเดิมๆทิ้งไป และสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ หากมองข้ามประเด็นสำคัญนี้ทิ้งไป สนใจแต่เทคนิค ก็อาจจะทำให้การเรียนดีขึ้นได้บ้าง แต่ไม่สามารถพลิกชีวิตแบบพลิกฝ่ามือได้ เพราะชนิดของเชื้อเพลิงและเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนการกระทำ ยังเป็นตัวเดิม แค่เปลี่ยนอะไหล่เท่านั้น
เรื่องของความเชื่อที่เรามีต่อตัวเอง หรือ มุมมองที่เรามีต่อตัวเองนั้น เป็นปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จและล้มเหลวในชีวิตของเราโดยตรง ในหนังสือชื่อ The Secret ของ Rhonda Byrne ได้กล่าวถึงเรื่องคล้ายแบบนี้เช่นกัน ยังมีหนังสืออีกหลายเล่ม ที่เพื่อนๆจะลอง ซื้อหามาศึกษาดู เช่น ชีวิตนี้ลิขิตได้ กล่าวคือ หากเรามีความเชื่อหรือมุมมอง หรือ ทัศนคติว่า ตัวเองเป็นเช่นไร ก็จะส่งผลต่อพฤติกรรมของเรา และจะดึงดูดสิ่งนั้น เข้ามาหาตัวเรา เช่น หากเรา คิดว่า เราเป็นคนโชคร้าย อาภัพ ไม่สำเร็จ เราก็จะดึงดูดสิ่งนั้น เข้ามาหาตัวเรา และพาเราสู่สถานการณ์นั้นๆ การคิดบวก การสลัดภาพ และความเชื่อด้านลบของเรา และการสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ และเชื่อมั่นว่า เราทำได้ มันมีความเป็นไปได้ สำหรับเรา จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และนำพาเราสู่การปฎิรูปเปลี่ยนแปลงชีวิตที่ไม่ปรารถนาของเราได้
ลืมบอกชื่อภาษาอังกฤษ สำหรับ เพื่อนๆที่ส่งลูกเรียนอินเตอร์ ภาษาไืทยไม่แตกฉาน ชื่อหนังสือ คือ . I m Gifted, So are You! ของ Adam Khoo ค่ะ
เดี๋ยวมาต่อค่ะ ยังมีอีกหลายประเด็นที่อยากจะแบ่งปัน ค่อยๆอ่านและซึมซับ จะได้รสชาติ ดีกว่าอ่านผ่านๆ เหมือนเห็นแต่รูปภาพอาหารน่ากิน แต่ไม่ได้ชิม ไม่มีประโยชน์อะไร มากกว่าเพลิดเพลิน
เป็นหน้งสือที่ดีมากอีกเล่มนึงเลยคร่าาาา อิอิ มาคอนเฟิม ด้วยอีกคนก๊าบบบบบบบบ ได้ติดตามอ่านบล็อคของคุฯ มนแชง ที่เว็บระกลูกมาบ้างเเล้วคร่าา มีเรื่องราวให้น่าอ่านมากมายเลย ไว้จะมาติดตามอ่านเรื่อยๆ นะคร้าาาาาา
พิมผิดซะงั้น อิอิ แก้คร่าาา
คุณมนแชง และ เว็บรักลูก ก๊าบบบบบบบบบ แล้วจะแวะมาใหม่นะคร้าาาา
แสดงความคิดเห็น