ปลุกพลังอัจฉริยภาพให้ลูก สอนลูกให้ชนะโลก ให้อยู่รอดในโลกใบนี้ได้อย่างสนุกสนาน ในแบบที่ลูกเป็น ไม่ใช่ในแบบที่เราต้องการให้ลูกเป็น ด้วยพลังแห่งความรักความอบอุ่นของครอบครัว
วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556
คุณกำลังเป็นส่วนทำร้ายลูกหรือเปล่า โดย คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
คุณกำลังเป็นส่วนทำร้ายลูกหรือเปล่า
แม่ประเภทแรกทำทุกอย่างให้ลูกหมดเลย แม่ประเภทนี้กลัวว่าลูกจะลำบาก กลัวลูกอด กลัวลูกเจ็บ กลัวไปซะทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นจะไม่ยอมปล่อยให้ลูกเผชิญทุกอย่างโดยลำพัง ถ้าเป็นลูกเล็ก แม่ก็จะคอยอุ้มอยู่ตลอดเวลา จะไม่ยอมปล่อยให้มาคลุกดินคลุกทราย หรือเดินโดยลำพัง จะมีคนเดินตาม เมื่อเด็กพลาดล้ม จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็จะคอยห้ามโน่นห้ามนี่ กังวลว่าลูกจะไม่ปลอดภัย แต่มันมาจากความรัก เป็นแม่ที่คอยประคบประหงม ดูแลเป็นไข่ในหิน ดูแลอย่างดี ทำทุกอย่างให้หมด
แม่ประเภทที่สอง
เป็นประเภทที่ต้องการให้ลูกทดแทนบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไปของพ่อแม่ตอนวัยเด็ก อะไรที่เราไม่เคยมี ก็อยากให้ลูกมี อะไรที่ไม่เคยทำ ก็อยากให้ลูกได้ทำ เมื่อวัยเด็กแม่อาจจะมีฐานะไม่ดี มีปมด้อย หรือลำบากมาก่อน เพราะฉะนั้น เมื่อตนเองประสบความสำเร็จ เลยชดเชยทุกสิ่งทุกอย่างให้กับลูก แต่ก็มาจากความรัก
แม่ประเภทที่สาม
เป็นประเภทที่ขีดเส้นทางชีวิตให้ลูกเดิน เพราะเชื่อว่าเส้นทางที่เลือกไว้ให้ลูกเป็นเส้นทางที่ดีที่สุด เช่น อยากให้ลูกเป็นหมอ ก็วางเส้นทางให้ลูกไปเป็นหมอ โดยไม่ได้ดูความถนัดหรือความชอบของลูกเลย แต่เชื่อว่าตนเองเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก โดยจะพูดย้ำกับลูกอยู่เสมอว่า เพราะว่าแม่รักลูก ถึงเลือกเส้นทางเช่นนี้ให้ลูก โดยไม่ฟังเสียงของลูก แม่ประเภทนี้ก็รักลูกนะ
แม่ประเภทที่สี่
แม่ประเภทนี้จะไม่ค่อยทันลูก คือพร้อมจะเชื่อทุกอย่าง ลูกบอกอะไรเชื่อหมด โดยไม่ได้สนใจ หรือตรวจสอบเลย ว่าลูกทำอะไรเหมาะสมหรือเปล่า แม่ประเภทนี้มักขาดความรู้ เช่น เมื่อลูกขอเงินเพื่อซื้อคอมพิวเตอร์เพื่อใช้หาความรู้ แต่ในความเป็นจริง ลูกอาจนำมาเล่นเกม คืออยากได้ เลยอ้างสารพัดเลย แต่แม่ไม่เคยรู้เลย ไม่เคยตรวจสอบ
แม่ประเภทสุดท้าย
ลูกไม่เคยผิดเลย เป็นแม่ที่ปกป้องลูกตลอดเวลา ไม่ว่าลูกจะมีปัญหากับใคร ทะเลาะกับพ่อแม่เอง ลูกฉันก็ไม่เคยผิด แม้ลูกจะทำผิดก็โทษผู้อื่นเสมอ เวลาลูกมีปัญหากับใครก็ออกโรงปกป้องเต็มที่ เพราะฉะนั้นเวลาเขาโตขึ้น ถึงต้องไปถามคนอื่นไงว่า “ไม่รู้เหรอว่าลูกใคร” จะลืมไปว่าลูกใคร เพราะว่าจะปกป้องลูกตลอดเวลา
แม่ทั้งห้าประเภทนี้ เป็นแม่ที่รักลูกเหลือเกิน แต่รักในทางที่ผิด อันนี้มันมีมาตรวัดชัดเจน ลูกที่เป็นผลผลิตจากความรักของแม่ที่เป็นแบบนี้ มักจะก่อให้เกิดความไม่ลงตัว หรือเกิดปัญหาต่างๆ ในสังคม ลองสังเกตคนใกล้ตัว มันสะท้อนได้ บางทีนิสัยต่างๆ มันเกิดมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ซึ่งพื้นฐานมันมาจากความรัก ฉะนั้นต้องตั้งคำถามว่า รักถูกทางไหม รักถูกวิธีไหม มันอาจจะเข้าข่าย 'พ่อแม่รังแกฉัน' โดยที่ไม่รู้ตัว แน่นอนว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันส่งผล และกลายเป็นดีเอ็นเอเลยบางอย่าง เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะยังติดนิสัยแบบนี้ แทนที่จะมาช่วยกันแก้ปัญหา กลายเป็นว่ามาสร้างปัญหาให้สังคม
.
บางคนมีลูกเพื่อให้รู้สึกว่าครอบครัวเราสมบูรณ์ มีสามีเป็นพ่อ มีเราเป็นแม่ แล้วก็ต้องมีลูก เพื่อให้ครบองค์ประกอบของครอบครัว ก็ถือว่าฉันทำหน้าที่ของฉันได้สมบูรณ์ในฐานะที่เป็นแม่ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ มันต้องมีสิ่งที่ตามมาหลังองค์ประกอบความสมบูรณ์นั้นด้วย
.
ที่จริงความสมบูรณ์ในครอบครัว ไม่จำเป็นต้องมีลูก สามีภรรยาที่เขาไม่มีลูก ก็เป็นครอบครัว หรือกระทั่งสามีภรรยาหย่าร้าง เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยว เขาก็เป็นครอบครัว เขาก็มีความสมบูรณ์ได้ในความเป็นครอบครัว คือองค์ประกอบมันไม่ได้หมายความว่า จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ลูกเท่านั้น
แต่องค์ประกอบคือการสามารถสร้างสัมพันธภาพในครอบครัวจากมิติชีวิตที่ตัวเองอยู่ตรงนี้ จากทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่ว่าจะมีสมาชิกในครอบครัวกี่คนก็แล้วแต่ แต่สามารถสร้างครอบครัวที่มันสมบูรณ์ขึ้นมาได้ บางคนไม่ได้แต่งงาน อยู่กับพ่อแม่ ก็เป็นครอบครัว ดูแลได้อย่างดี มีความสุขได้ อาจจะดีกว่าการที่เราพยายามสร้างความสมบูรณ์ ในแบบฉบับที่เป็นต้นแบบของเรา สุดท้ายพอเรามีเขา แล้วเราดูแลเขาได้ไม่ดี หรือว่าเราไม่ได้ให้เวลาในการทุ่มเท ทั้งความรักและความรู้ไปควบคู่กัน
เพราะการจะพัฒนาเด็กคนหนึ่งขึ้นมา มันไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่ว่าคลอดเสร็จแล้วจะกลายเป็นคนดีของสังคมได้ ต้องอาศัยความทุ่มเท อาศัยเอาตัวแลกเอาใจแลก ของคนที่เรียกได้ว่าเป็นแม่
อีกมุมนึงต้องให้กำลังใจคุณพ่อคุณแม่ในยุคนี้ด้วย คือมีความยากขึ้นหลายเท่าตัวมาก จากประสบการณ์ที่มีเพื่อนสนิทมีลูกอายุประมาณ 5-6 ขวบ กำลังจะสอบเข้าโรงเรียน ชั้นเตรียมอนุบาลหรือป.1 ของโรงเรียนชื่อดัง ทางโรงเรียนได้ส่งข้อสอบมาให้ เห็นแล้วรู้สึกตกใจ ปรากฏว่าเป็นข้อสอบภาษาอังกฤษ เด็กต้องเรียงประโยคให้ถูกต้อง จัดลำดับประธาน กรรม กิริยา ได้แล้ว
.
โดยเฉพาะสังคมไทย ที่เราให้ความสำคัญกับวิชาการมาก มันถึงได้ออกมาในรูปแบบของข้อสอบอนุบาล ป.1 ป.2 บางทีเราไปดูข้อสอบของเด็ก ยังรู้สึกว่ามันยาก ถ้าเราเป็นเด็กยุคนี้ เราคงรู้สึกว่ามันยากแน่นอนเลย ฉะนั้นทางออกคุณพ่อคุณแม่ก็คือ ต้องจับลูกไปเรียนพิเศษ หรือไม่ก็ต้องรีบกลับมาจากที่ทำงานเพื่อมาติวหนังสือลูก
.
อยากให้คิดตามเรื่องของความคาดหวัง ลองนึกถึงวันแรกของการได้เป็นแม่ วินาทีแรกของการได้เป็นแม่ เชื่อไหมว่า คนเป็นแม่ทุกคน วันนั้นทั้งคนเป็นพ่อและแม่จะต้องนึกอยู่ว่า ถ้าคลอดลูกออกมาแล้ว สิ่งที่ปราถนาอยู่ตอนนั้น คืออยากให้ลูกออกมารอดปลอดภัย อวัยวะครบสมบูรณ์เป็นปกติ ณ เวลานั้น พอคลอดออกมาแล้วได้ยินเสียงลูก มันคือความสุข วินาทีนั้น เชื่อว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ทุกคนอธิฐานแบบนั้นจริงๆ นั่นเป็นความคาดหวังแรก ความคาดหวังครั้งนั้น เราต้องคิดว่าเป็นครั้งที่สำคัญที่สุด
.
แต่พอเวลาผ่านไป ลูกเติบโตขึ้นในแต่ละวัน ความคาดหวังของพ่อแม่มันเติบโตไปพร้อมกับลูก มันไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ช่วงวัยทารก คนเป็นพ่อแม่ก็อยากให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี นั่ง คืบ คลาน เดิน เล่น ก็อยากให้เร็ว มีความสุขกับการเติบโต พอลูกเข้าสู่วัยเรียน อยากให้ลูกเรียนเก่ง เข้าโรงเรียนชื่อดัง อยากให้มีความสามารถพิเศษ ส่งเสริมการเรียนกันอุตลุต เรียนดีอย่างเดียวไม่พอ มันต้องเก่ง คืออยากให้เป็นเด็กพิเศษในหมวดของเด็กที่มีความสามารถพิเศษ พอเข้าสู่วัยรุ่น อยากให้ลูกเข้าสู่มหาวิทยาลัยชื่อดัง อยากให้ลูกเป็นหมอ อยากให้ประกอบอาชีพที่คิดว่าดีสำหรับพ่อแม่ ก็ทำให้ตนเองรู้สึกภาคภูมิใจเมื่อไปบอกชาวบ้าน เมื่อลูกเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ อยากให้ลูกทำงานที่ดี บริษัทมั่นคง มีชื่อเสียง เงินเดือนสูงๆ เป็นความคาดหวังของพ่อแม่ไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ พอเข้าสู่วัยที่จะสร้างครอบครัว อยากให้มีคู่ครองที่ดี มีฐานะมั่นคง มีเงินทองมั่งคั่ง อยากให้มีลูกหลานที่ดีอีก อยากให้ไปเรื่อยๆ มันเป็นวงจรของความคาดหวังของพ่อแม่ที่ไม่เคยสิ้นสุด
เวลาที่ถามพวกเขา เขามักจะตอบว่า ไม่ขออะไรมาก ก็อยากให้เป็นคนดีของสังคม มีความสุข ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แต่...สุดท้ายความคาดหวังทั้งหมดมันจะแปรสภาพไปตามกระแสอยู่เสมอ ความคาดหมายของการเป็นคนดีหรือมีความสุขจะขึ้นอยู่กับสายตาของพ่อแม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสายตาของเด็ก
.
ทีนี้คำถามก็คือว่า ถ้าเราแปรเปลี่ยนความคาดหวังในตัวลูกให้กลายมาเป็นการเห็นคุณค่าจากความสุข มีความสุขที่ได้เล่น มีความสุขที่ได้เรียน มีความสุขในการใช้ชีวิต มีความสุขในการแบ่งปัน มีความสุขใรการเป็นผู้ให้ หรือมีความสุขในทุกๆ วัน เพราะว่าเวลามีความสุขมันจะไม่กดดันในชีวิต
.
อยากจะสะกิดใจ อยากให้กลับมาคิดว่า เมื่อไหร่ที่เราใช้ความคาดหวังสิ้นเปลืองเกินไป หรือมากขึ้นเรื่อยๆ ขอให้กลับไปนึกถึงวันแรกที่คลอดเขาออกมา วันนั้นเราอธิฐานแค่นี้ใช่ไหม ขอเทอด ให้ลูกออกมารอดปลอดภัย อวัยวะครบปกติใช่ไหม แต่ทำไมนานวันไปเรื่อยๆ เป็นแม่ไปเรื่อยๆ ความคาดหวังมันแปรสภาพไปเรื่อยๆ ล่ะ มันต้องมีอะไรกระตุกสักนิดว่า สุดท้ายเราเลี้ยงลูกให้เป็นตัวเขา หรือเราเลี้ยงลูกตามความคาดหวังของเรา
.
และสิ่งหนึ่งที่อันตราย บางทีสิ่งที่เราต้องการให้ลูกเป็น เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ สุดท้ายแล้วมันมาเสิร์ฟ ความต้องการของเราที่เป็นพ่อแม่รึเปล่า ความสุขแต่ไม่ใช่ความสุขของลูก แต่เป็นความสุขของเรา เช่นเรื่องอาชีพ เราจะเห็นตัวอย่างเยอะมาก ลูกอยากไปแนวนึง แต่พ่อแม่อยากมากเลย มันเป็นความฝันของเขาตั้งแต่วัยเด็ก ว่าอยากเป็นหมอ ตัวเองเป็นไม่ได้ พอมีลูกก็เอาละ ปลูกฝังทุกอย่าง ปูทาง ทุ่มเททุกอย่าง คาดหวัง อยากให้ลูกไปเป็นอย่างนั้น เรียนเสาร์อาทิตย์ไม่เคยหยุด ชีวิตปิดเทอมไม่เคยมี เพราะต้องเรียนเลข คณิต เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ตลอด ปรากฏว่าลูกไม่ชอบเลย วิชาที่ว่ามาล่อแล่ แต่ดันไปชอบวาดรูป อยากเป็นนักดนตรี ศิลปะ สุดท้ายต้องมาตั้งคำถามเหมือนกันว่า “ที่เราคิดว่ามันดีสำหรับลูก เพื่อไปตอบสนองความสุขของตัวเราหรือว่าของลูกกันแน่”
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น