วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ผมทำได้....ช่วยสร้าง Self Esteem ลูกให้แข็งแรง



สมัยก่อนตอนที่ยังไม่มี FB เคยอ่านกระทู้ของพ่อแม่หลายๆคน อยากให้ลูกเข้าเรียนก่อนเกณฑ์ มาถามคำถามเกี่ยวกับการขอเข้าสอบก่อนเกณท์ที่รร.ดังๆกำหนดไว้ ก็รู้สึกเหมือนกันว่า จะเร่งกันไปทำไม มาถึงตอนนี้ จึงมีความเข้าใจมากขึ้นว่า การที่โรงเรียนกำหนดเกณฑ์ไว้นั้น มันมีความสำคัญ ที่ผปค.ไม่ควรละเลย มันไม่เกี่ยวกับว่า เรียนเร็วหรือช้าไปหนึ่งปี คนอื่นเสียโอกาส แต่เป็นเรื่องของความพร้อมของเด็ก ในหลายๆด้าน นอกเหนือจากศักยภาพในการเรียน ซึ่งทักษะหลายๆอย่างของคนเรา มันอาจจะไม่ได้มาจากการฝึกฝนเท่านั้น แต่ต้องในวัยที่เหมาะสม คือ วัยที่กำลังพัฒนาทักษะนั้นได้

เด็กเล็กๆ ถึงเด็กประถมต้นนั้น แม้อายุห่างกันไม่กี่เดือน แต่จะมีพัฒนาการที่ต่างกันมาก โดยเฉพาะในเรื่องการฟัง การควบคุมอารมณ์ และความสามารถคล่องแคล่วในบางเรื่อง รวมทั้งน้ำหนักและส่วนสูง เด็กที่เรียนก่อนเกณฑ์ จะตัวเล็ก หรือดูเล็ก มันก็เป็นส่วนนึง ที่ทำให้เด็กดูด้อย อ่อนแอ และอาจจะถูกแกล้งได้ง่าย พอเจอเพื่อนตัวใหญ่ ตัวสูงก็อาจจะกลัวและทำให้ถูกเพื่อนข่ม บุคลิกภาพ อาจจะมีปัญหา ไม่เป็นผู้นำ เพราะรูปร่างเสียเปรียบ

เด็กที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด บางทีมีปัญหาในเรื่องการฟังคำสั่ง ทักษะการฟังยังพัฒนา ไม่ถึง ไม่เข้าใจคำสั่ง หรือ เหตุผลหรือ การเรียนการสอน ที่จะเป็นแบบเด็กประถม ซึ่งจะแตกต่างกับการเรียนในชั้นอนุบาล ทำให้การเรียนก็อาจจะช้า หรือด้อยกว่าเพื่อนๆ หรือบางครั้งหลายๆครั้งอาจจะฟังรู้เรื่อง แต่ทำไม่ได้ เพราะ ยังทำใจให้ยอมรับเหตุผลไม่ได้ ทำให้อาจจะดูด้อยกว่าเพื่อน ถูกครูตำนิ หรือเด็กอาจจะเปรียบเทียบตัวเองว่าไม่เก่งเท่าเพื่อน

การตีความลักษณะนี้ของเด็ก ว่า ตัวเองเก่งสู้เพื่อนไม่ได้ หรือ เสียเปรียบเพื่อน ทำให้เด็กมีทัศนคติ เกี่ยวกับตัวเอง ว่าเราด้อย ซึ่งทัศนคติเชิงลบ แบบนี้จะส่งผลต่อบุคลิกภาพ ให้กลายเป็นคนขี้อาย ไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่เป็นผู้นำ ซึ่งแม้ว่า โตแล้ว พัฒนาทักษะอะไรได้ตามเพื่อน ไม่ต่างกัน แต่ทัศนคติที่มีกับตัวเองแบบนี้จะติดตัวไปค่ะ ทำให้กลายเป็นคนที่ไม่ภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ และไม่พอใจในตัวเอง Self Esteem ต่ำค่ะ

อีกเรื่องที่อยากจะเล่า คือ ในทางกลับกัน มีผปค.อีกกลุ่มนึง ก็เป็นแบบที่กลัวลูกลำบาก ถึงเวลา ถึงวัยที่เหมาะสม ก็ไม่อยากจะพยายามฝึกลูกให้ทำได้ตามมาตรฐาน กลัวลูกเหนื่อย กลัวลูกลำบาก กลัวลูกเครียด ถึงวัยที่ควรจะอ่านออก เขียนได้ อ่านเก่ง เขียนเก่ง หรือ ต้องฝึกว่ายน้ำ ต้องมีวินัยในการทำการบ้าน ก็ไม่อยากจะฝึก กลัวลูกไม่รัก กลัวลูกไม่มีความสุข กะว่า มาโรงเรียนแค่ไหนแค่นั้น แม่เป็นเร่ง ไม่ต้องแข่งกะใคร ไม่เป็นไร แบบนี้ก็ทำลาย Self Esteem ของลูกเช่นกัน

มีผปค.ที่ลูกเรียนในโรงเรียนแนววิชาการหลายคน บ่นกันยกใหญ่ จดการบ้านไม่ทัน การบ้านเยอะ สอบบ่อย สอบยาก Project เยอะ สุดท้ายลงเอย ด้วยการช่วยลูก ทำการบ้านแทนลูก แล้วก็มาบ่นว่า เป็นการบ้านพ่อแม่ ประเด็นคือ การบ้านเหล่านี้ มันคือ การบ้าน ที่พ่อแม่ควรเข้ามาชี้แนะ "ไม่ใช่ทำให้ลูก" พ่อแม่ไฮเทคที่รักลูก ก็เอาการบ้านมาแชร์กัน ลอกกัน ลูกจดการบ้านไม่ทันไม่เป็นไร เดี่ยวแม่ถามเพื่อน สุดท้ายลูกถึงเวลา ต้องฝึกอะไร ไม่ต้องฝึกสักอย่าง เพราะพ่อแม่คิดว่า มันไม่จำเป็น ทำแทนลูกไปเลย จะได้ไม่เสียเวลาเรียนพิเศษ


สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กกลุ่มนี้ ในโรงเรียน คือ เมื่อมาโรงเรียน เด็กก็ขาดความมั่นใจในการเรียน เพราะพ่อแม่ทำการบ้านให้หมด เวลาเขียน เวลาเรียนในห้อง ก็รู้สึกเสียความมั่นใจ ยิ่งเห็นเพื่อน เขียนเก่ง เขียนเร็วทำได้ดีกว่า เค้าก็ยิ่งท้อ รู้สึกว่าเพื่อนเก่งจัง ตัวเองเก่งสู้เพื่อนไม่ได้ เพราะตัวเองไม่เคยฝึก อยู่บ้านพ่อแม่ไม่สอน แต่ช่วยแก้ปัญหาทำแทนทุกอย่าง จนลูกไม่ได้คิด ถึงเวลาเรียนว่ายน้ำ ว่ายน้ำไม่เป็น ก็ไปอยู่กลุ่มเด็กว่ายน้ำไม่เป็น ในขณะที่เพื่อนบางคน ไปอยู่กลุ่มว่ายน้ำเก่ง ว่ายน้ำปร๋อ หรือ พอไปเรียน เพื่อนคนอื่นครูถามอะไร ตอบได้หมด ภาษาแจ๋ว แต่ตัวเอง ฟังไม่รู้เรื่อง พูดไม่ออก อ่านไม่รู้เรื่อง นี่สร้างปมด้อยให้เด็กมากเลยนะคะ

ดังนั้น พ่อแม่เองก็ควรจะแยกแยะ การงานที่ครูมอบหมายให้ทำ คือ สิ่งที่เป็นมาตรฐานของโรงเรียน ที่เหมาะกับอายุ และชั้นปีของเด็กๆ และยิ่งโต สิ่งที่เด็กต้องฝึกก็ยิ่งมาก ไม่มีลดราคาแน่นอน ดังนั้น แม้จะยากลำบากเพียงใด ต้องให้กำลังใจ และสละเวลา ฝึกฝนลูกทีละน้อย เค้าอาจจะทำช้า ไม่คล่องแคล่ว ก็อย่ากังวล เพราะหากไม่พยายามให้กำลังใจให้ลูกฝึก เค้าก็จะต่อยอดยาก ถึงเวลาเรียนชั้นสูงๆขึ้นไป ไม่เคยแบกภาระ จะเทภาระการเรียนหนักๆเค้าก็รับไม่ไหว และยิ่งท้อ พื้นฐานไม่แน่น ก็ต่อยอดยาก

อย่างที่บอก การสูญเสีย Self Esteem นี่ มันฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกค่ะ ว่า เค้ามองตัวเองอย่างไร หากเค้าเชื่อว่า เค้าไม่เอาไหน สู้เพื่อนไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่เก่ง ไอ้นั่นก็ไม่ถนัด เค้าจะไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเองค่ะ ทำให้เค้าดูตัวเอง เป็นคน "ตัวเล็ก" ไม่มีคุณค่า ไร้ความสามารถ ซึ่งมันจะมีผลต่อบุคลิกภาพ และความกระตือรือร้นของเค้าเช่นกัน

เมื่อคืนน้องแชง ได้ลงมือทำโปรเจค Science ซึ่งเป็นงานโปรเจคชิ้นแรกของชีวิตการศึกษาก็ว่าได้ กำหนดส่งวันพฤหัสโน้น ดูจากเนื้องาน เป็นงานที่ไม่ยาก แต่ต้องอาศัยทักษะหลายๆอย่างของเด็ก เช่น การทำ Research หารูป ตัดแปะ ตกแต่ง ซึ่งน่าจะทำได้ภายในสองชม. แต่น้องแชงนั่งทำ 5 ชม.ก็ไม่เสร็จ และคงต่อไปอีกหลายชม.

ปัญหามันไม่ใช่งานยากหรือไม่ แต่เค้ามีจินตนาการค่ะ เค้ามีความสุขมากกับมัน ค่อยคิดวางแผน เค้าค่อยๆศึกษา ค้นคว้า จนตกผลึกว่า เค้าอยากทำในหัวข้อนี้ อยากให้มันมีรูป มีเรื่องราวแบบนี้ อยากให้มีส่วนประกอบแบบนั้นแบบนี้ เราปล่อยให้เค้าคิด และทำไปเรื่อยๆ ตามจินตนาการของเค้า ดิฉันว่า มันเป็นการฝึกการใช้จินตนาการความคิด ฝึกสมาธิได้ดีมากๆ และเค้าก็ภาคภูมิใจกับมัน ในความคิดของเค้า เค้าพอใจกับงานของเค้าค่ะ มันเป็นการสร้าง Self Esteem ของเค้าได้ดีที่สุด เพราะ Self Esteem ที่แท้จริง ไม่ได้มาจากที่ว่า ใครๆยกย่องชื่นชมตัวเรา แต่มาจากการที่ตัวเราภาคภูมิใจในผลงานของตัวเองต่างหาก

ในการทำงานของเด็ก เค้าอาจจะไม่คล่องแคล่ว ทำออกมาไม่เนี๊ยบ ไม่สวยงาม เท่ากับเราทำให้เอง คะแนนอาจจะออกมาไม่ดี เพราะงานไม่เนี๊ยบ เท่ากับงานที่พ่อแม่ทำให้ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญ เท่ากับว่า มันเป็นงานที่เค้าได้ฝึกฝน ลงมืทำด้วยตัวเอง ดิฉันเชื่อว่า ต่อไป ลูกจะต้องมี โปรเจคมากขึ้น ในหลายๆวิชาตามวัย ตามชั้นปี หากเราลงมือทำให้ลูกแล้ว เราคงต้องทำให้ลูกตลอดไป เพราะเค้าไม่มีโอกาสฝึกฝน ดังนั้น ให้ลูกเผชิญหน้ากับงานของเค้าเองตั้งแต่ตอนนี้ ดีที่สุด

ดิฉันเองก็เข้าใจ ผปค.และเด็กๆหลายครอบครัว ที่ผปค.ต้องช่วยลูกทำงาน ทำการบ้าน เพราะเวลาไม่พอ พาลูกไปเรียนพิเศษนี่ๆนั่นๆ เวลาก็ไม่พอเหลือให้ลูกได้เรียนรู้เอง ทำการบ้าน หลายๆครอบครัวบ้านอยู่ไกลโรงเรียน เสียเวลาในการเดินทางวันนึงเป็นชม. หลายชม. หลายๆบ้านติดทีวี ติดเกม หลายๆบ้าน พ่อแม่ทำงานหนัก ไม่มีเวลาดูแลลูก ให้พี่เลี้ยง ให้ญาติผู้ใหญ่ช่วยดูแล หลายๆเหตุผลเหล่านี้ ทำให้เด็กๆ ไม่เหลือเวลาในการฝึกฝน ลองผิดลองถูก ทำการบ้าน ทำงานด้วยตัวเอง มีเวลาเหลือให้ทำงานส่งครู แค่ไม่กี่ชม. เด็กไม่ทันมีเวลาคิด ไม่มีเวลาตกผลึก ไม่ทันได้ฝึกฝนอะไร ตาม Requirement ของวิชาเลย ทำให้เด็กเสียโอกาสในการพัฒนาตนเองอย่างน่าเสียดาย


ไม่มีความคิดเห็น: