วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

ลูกอนุบาล เริ่มเข้าป.๑ พ่อแม่ลูกปรับตัวกันหรือยัง (1)

เพื่อนๆผปค. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อนผปค.ที่พาลูกติวเข้ม เพื่อสอบเข้าสาธิตมาเป็นแรมปี เด็กๆไม่ได้ฝึกทักษะอย่างอื่น มากไปกว่าการฝึกทำข้อสอบเชาวน์ เด็กๆที่สอบเข้าสาธิตได้ คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะพอเปิดเทอม การเรียนก็ยัง เรื่อยๆ ไม่หนักมาก ตามประสาโรงเรียนสาธิต แต่เด็กๆที่พลาด ต้องมาเรียนในโรงเรียนแนววิชาการ ก็อาจจะต้องเตรียมความพร้อมด้านการเรียนกันสักนิด ไม่งั้น ทักษะการเรียนไม่พอ อาจจะทำให้มีปัญหาด้านการเรียนได้

ทักษะการเรียนที่สำคัญ ที่ผปค.สามารถช่วยเตรียมลูกได้ คือ การทบทวน การเรียนในชั้นอ.๓

- ให้ทำแบบฝึกหัดเลข อ.๓ บวกลบ พื้นฐานให้คล่อง และเร็วๆ เข้าไว้ค่ะ ฝึกวันละ 10 ข้อก่อน แล้วค่อยๆเพิ่ม เพื่อให้บวกลบในใจได้ คิดเลขได้เร็ว เพราะพอเรียนประถม โจทย์เลขจะซับซ้อนขึ้น ต้องทำหลายขั้นตอน หากบวกลบ ช้า ยังต้องนับนิ้ว การทำการบ้านในชั้นป.๑ ขึ้นไป จะรู้สึกนาน และยาก เด็กๆจะเบื่อค่ะ และไม่อยากทำ การเรียนเลขจะกลายเป็นยาขม สำหรับการเรียนไปเลยค่ะ


- ให้ฝึกทักษะการฟัง ควรฝึกทั้งความเข้าใจ และฝึกทั้งการฟังแล้วจดตามคำบอก คุณแม่อาจจะอ่านนิทาน หรือ ข้อมูลใหม่ๆให้น้องฟังสักหนึ่ง ย่อหน้า แล้วถามว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร หรือ อาจจะเล่าให้น้องฟัง แล้วให้น้องสรุปว่า เรื่องราวท่แม่เล่านี้ เป็นอย่างไร ตามความเข้าใจของเค้า อีกวิธีนึง เราอ่านประโยค แล้วให้ลูกเขียนตามทีละประโยค แบบบอกจด น่ะค่ะ การฝึกแบบนี้ จะช่วยให้น้อง สามารถฟังการสอนในห้องเรียนได้ดี จดจำที่ครูพูดได้ และจดการบ้านได้ทัน

- ฝึกให้คัดลอก ดิฉันให้คัดลอกนิทาน วันละ หนึ่งย่อหน้า หากเรียนสองภาษา ก็ให้คัดลอกทั้งไืทย และอังกฤษ อันนี้ เป็นการฝึกจดการบ้านบนกระดาน และจดงานตามที่ครูสอนในห้องค่ะ จะได้ลอกได้เร็ว ลอกได้ทัน และเรียบร้อย


- หากเรียนในเครือ แคธอลิค คริสต์ ที่เน้นภาษาอังกฤษ ควรฝึกให้ท่องศัพท์ง่ายๆ วันละ ๕ คำก่อน แล้วเพิ่มเป็น ๑๐ คำ เพราะโรงเรียนในเครือเหล่านี้ จะมีการบ้านให้เด็กท่องคำศัพท์ค่ะ และมีการสอบเก็บคะแนน หากไม่ฝึกทีละน้อย เอาคำง่ายๆให้ฝึก เจอคำยาก จะท้อค่ะ เทคนิคตอนนี้ ให้ฝึกแล้ว เอามาเล่นเป็นเกม ให้สติกเกอร์ ให้ดาว เก็บแต้ม แลกขนม อะไรก็ว่าไป ฝึกให้ชิน พอฝึกๆไป ลูกจะหาเทคนิคเฉพาะตัว ในการท่องจำ แล้วต่อไป เค้าจะมีหลักในการท่องศัพท์ค่ะ

- ลูกใครยังวาดรูปไม่ค่อยเก่ง หรือไม่ชอบวาดรูป ก็ควรจะพยายามหาวิธีให้ลูกสนุกกับการวาดรูป รูปที่วาด ไม่จำเป็นต้องสวยเลิศ แต่ให้สื่อสารได้ หากวาดรูปได้ จะช่วยเรื่องการจดบันทึก การจดงานได้มากค่ะ เพราะเชื่อว่า ตอนนี้ Mindmapping น่าจะเป็นทักษะ ที่หลายๆโรงเรียนเอามาสอนเด็ก เป็นหนึ่งในเทคนิคการเรียนที่สำคัญค่ะ ในการเรียนระดับสูงขึ้นไป

- โรงเรียนไหน ที่เด็กๆต้องมีพละเป็นวิชาว่ายน้ำ แล้วเด็กๆยังว่ายน้ำไปเป็น ก็ควรพาลูกไปเริ่มๆ ทำความคุ้นเคยกับสระว่ายน้ำนะคะ พาไปเล่นน้ำ ให้สนุกคุ้นเคย จะเริ่มเรียนเลยก็ได้ค่ะ ให้เลือกครูที่สอนสนุก เด็กจะได้มีทัศนคติที่ดีกับการว่ายน้ำ พอต้องเรียน จะได้ไม่กลัว ตอนนี้มีเด็กๆหลายคน อาจจะว่ายน้ำเป็นแล้ว หากลูกไปโรงเรียนแล้ว ตัวเองว่ายน้ำไม่เป็น อาจจะเสียความมั่นใจได้ค่ะ

ทักษะเหล่านี้ ฝึกวันละนิด ละหน่อย อย่าหักโหมนะคะ ทำจนลูกเข็ด จะยิ่งแย่ ตอนที่ดิฉันฝึกลูกนี่ วันนึง รวมๆแล้ว ไม่ถึงสองชม.ค่ะ ยกเว้น ว่ายน้ำ ก็สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ๆละ สองชม. วาดรูปนี่ก็วางไว้ในบ้าน ให้ลูกหยิบทำเอง ตามสบาย ไม่จัดตารางให้แน่น เค้าจะได้เป็นอิสระวันนึง ก็หลายชม.ค่ะ แล้วแต่เค้าจะเลือกเองว่าอยากทำอะไร ซึ่งเค้าอาจจะอยากวาดรูป หรือ ไปเที่ยว หรือ อยากปั้นแป้งโดว์ อ่านหนังสือที่ชอบ หรือ Search Google ก็แล้วแต่ค่ะ แต่ไม่ให้ดูทีวี หรือเล่นเกมค่ะ ไม่งั้นนี่ เวลาให้เลิกแล้ว เค้าจะหงุดหงิด เหมือนปิศาจเข้าสิง




ผจญภัยโรงเรียนประถมวันแรก จากโลกใบเล็ก ที่ได้รับการปกป้อง
สู่โลกใหม่ที่กว้างใหญ่ ฝึกเรียนรู้ที่จะเผชิญโลกกว้าง อย่างกล้าหาญ

4 ความคิดเห็น:

gadezA กล่าวว่า...

ไม่ได้ไปสอบแนวสาธิต แต่มาเก็บข้อมูลเตรียมตัวเรียน ป.1 ว่าประมาณไหน ขอบคุณมากคะพี่หุย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ลองไปหาอ่านจิตวิทยาในวัยเด็กประกอบหน่อยนะครับ

ทำกับเด็กขนาดนี้แรงไปมั้ย

เด็กสาธิต จะเรียนเพื่อนำไปใช้ เช่น แต่งตัวเอง กลัดกระดุม เข้าแถว เข้าคิว มีวินัย

ลองย้อนกลับมาดูตัวเรา เรียนมาเกือบตาย ดีแต่ท่องๆจำๆ แล้วไม่ได้ใช้ เลยลืมไปหมด sine cos tan ดิฟ อินทิเกรต นำไปใช้อะไรได้บ้าง เรียนไปทำไม งงมั้ย

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

ในบทความนี้ สำหรับครอบครัว ที่จะเตรียมลูกเรียนในระบบวิชาการ ระดับประถมของเมืองไทยค่ะ ไม่ได้บอกว่า เป็นระบบที่ดีที่สุด แต่หากเลือกที่จะเดินในระบบวิชาการ เด็กๆจะเจอแบบนี้ค่ะ การเตรียมตัวลูกให้พร้อมที่สุดจะช่วยเด็กๆได้ในระยะยาว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ดิฉันเคยบอกเสมอ เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้นเด็กแต่ละแบบอาจจะเหมาะสมกับระบบโรงเรียนที่ไม่เหมือนกัน หากลูกเรียนในระบบไหน แล้วเค้ามีความสุข เค้าไปได้ดี ตามศักยภาพของเค้า ก็แปลว่าระบบนั้นเหมาะสมกับเค้าแล้ว แต่หากเด็กเรียนแล้ว มีปัญหาพฤติกรรม งอแง หรือไม่ร่าเริง อารมณ์เสีย ก้าวร้าว เป็นต้น อาจจะมาจากระบบการเรียน หรือ การดูแลที่บ้านไม่เหมาะสม ก็ต้องพิจารณาในการปรับเปลี่ยนค่ะ


เราไม่ควรเอาความกลัวส่วนตัว หรือความไม่ชอบส่วนตัวมาปิดกั้นความเป็นไปได้ของลูกของเรา หากลูกทำได้ และอยากทำ ในฐานะพ่อแม่ เราต้องส่งเสริม ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องดูแลการใช้เวลาชองลูกให้สมดุลด้วยค่ะ

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

ในกรณีที่ลูกของเพื่อนๆ มิได้ไปต่อโรงเรียนประถมแนววิชาการ หรือ ไปดูแล้ว โรงเรียนประถมของลูกๆ ไม่ได้เน้นการเรียนแบบนี้ เพื่อนๆก็ไม่จำเป็น ต้องฝึกลูกขนาดนี้ก็ได้นะคะ ก่อนเอาลูกเข้าโรงเรียนใด ควรลองศึกษาดู ว่าระบบการเรียนในโรงเรียนนั้นๆ และ ดูจากลูกเรา จะเหมาะสมหรือไม่ แล้วฝึกลูกให้สอดคล้องกับแนวทางของโรงเรียน

และในกรณีที่เราฝึกลูกได้แค่ไหน ก็อย่าได้กังวล เพราะพอถึงเวลา ลูกมีปัญหาขาดตกบกพร่องเรื่องใด เราจะได้รู้ว่า ลูกเรานั้นปกติ แต่เป็นเพราะเราฝึกเค้ามาน้อยไป ไม่ต้องโทษใคร