เรื่องราวในกระทู้นี้ เป็นงานเขียนของคุณ Beev จากกระทู้ที่เธอเขียนในเวบโมมี่พีเดีย (เดือนสค. ๒๐๑๐) เห็นว่าเรื่องราวมีประโยชน์ มีเทคนิคดีในการสอนลูกในวัยอนุบาล ๓ ได้ จึงขออนุญาตเอามาเก็บไว้ในเวบบล็อกนี่ เผื่อใครนำไปใช้ได้
มีโอกาสส่งเจ้าลูกชายวัยใกล้ ๖ ขวบ ซึ่งกำลังจะขึ้นป.๑ กลางเดือนหน้า (สิงหา)นี้ เข้าไปเรียนซัมเมอร์ที่ รร.นานาชาติกรุงเทพฯ (IS ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา...จุดประสงค์แรกๆที่ส่งไปคือ เพื่อให้ลูกได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ช่วงที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน (และรร.อยู่ใกล้บ้าน)...อีกประการหนึ่งคือ อยากรู้ว่า รร.นานาชาติระดับท็อปนั้น เขาสอนกันอย่างไร...ต่างกับรร.อินเตอร์ขนาดเล็กที่ลูกเรียนอยู่แค่ไหน
ค่าใช้จ่ายช่วง summer นับว่าไม่น้อยค่ะ คิดเป็นรายสัปดาห์ ตกสัปดาห์ละ ๑ หมื่นกว่าบาท ซึ่งไปเรียนแค่ชวงสั้นๆไม่กี่สัปดาห์ ก็ยังพอจ่ายไหว แต่ถ้าให้เรียนจริง คงไม่สามารถ เพราะเกินฐานะทางบ้านไปมาก...
เปิดกระทู้นี้ขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดปสก.ที่ลูก+แม่ได้มา เอามาเล่าสู่กันฟัง....ถือว่า อ่านเพลินๆ เป็นเกร็ดเล็กๆน้อยๆนะคะ คงจะไม่ได้ภาพที่ละเอียดมากมายอะไร เพราะลูกไปเรียนแค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น
1. ด้านวิชาการ - ถ้านับว่า นี่คือการเรียนแค่ช่วงซัมเมอร์ ส่วนตัวเห็นว่าที่ ISB สอนได้เข้มข้น เป็นเรื่องเป็นราวเกินความคาดหมายไปมาก การจัดตารางเรียน สลับกับกิจกรรมของเด็กที่กำลังจะก้าวขึ้นชั้นประถม ทำได้อย่างสมดุลย์ คือ
0730-0840 Language Arts (รร.เข้าค่อนข้างเช้า ลูกดิฉันปรับตัวอยู่ทั้งสัปดาห์ทีเดียวค่ะ)
0840-0910 Snack time
0910-1000 Math
1000-1040 Lunch (ทานข้าวเที่ยงเร็วมากๆ)
1040-1150 Reading/Writing/Math
1200-1250 ว่ายน้ำ
เลิกเรียนตอนบ่ายโมง และตารางเหมือนกันทุกวัน
ลองเปรียบเทียบกับซัมเมอร์ในรร.อินเตอร์ปกติของลูก (ไปเรียนมา ๓ สัปดาห์ก่อนหน้านี้) แม้จะมีตารางสอนที่ไม่ต่างกันมาก แต่การเรียนการสอน (ช่วงซัมเมอร์) ดูเหมือนจะต่างกันลิบค่ะ...ที่รร.ลูกจะสบายๆ ยังคงเรียนผ่านกิจกรรมอยู่มาก...ส่วนที่นี่ ดูเหมือนครูจะมีเทคนิคการสอนพิเศษที่แม่อย่างดิฉันเองยังทึ่ง อาทิ
สอนให้เด็กอ่านหนังสือ...ครูจะใช้ Big Book เรื่อง Mrs. Wishy-Washy วางบนไวท์บอร์ดขนาดใหญ่ เด็กๆจะนั่งล้อมวงกับพื้น (ปกติ รร.นานาชาติในระดับอนุบาล-ประถมต้น ครูจะให้นั่งแบบนี้อยู่แล้ว) ครูจะอ่านให้ฟังไปทีละประโยค แต่ละหน้าจะมีคำที่เอา post-it มาแปะไว้ พอถึงคำนั้นๆ ครูจะค่อยๆเปิดอักษรตัวแรกก่อน แล้วให้เด็กเดา ว่า คือคำว่าอะไร แล้วจะบอกเทคนิคในการ"เดา"คำว่า
เทคนิคสำคัญ ๓ ข้อในการอ่านหนังสือคือ
Does it look right (from the picture)?
Does it sound right (from sounding it out)?
Does it make sense?
If you make the wrong guess, just fix it.
เด็กๆดูจะสนุกสนานกับการเดา ผิดบ้างถูกบ้าง (เด็กในห้องที่เรียนมีทั้งฝรั่ง ต่างชาติ เช่นญี่ปุ่น และเด็กไทย ซึ่งพอมีพื้นฐานด้านการอ่านมาบ้าง) แต่ครูจะใช้เทคนิคเดียวกันในกาอ่านนิทานเรื่องดังกล่าวให้เด็กฟัง...ทุกหน้า
ช่วงที่ผ่านมา ลูกชายอ่านหนังสือได้คล่องขึ้น และกล้าเดาคำศัพท์ใหม่ๆมากขึ้น โดยเฉพาะศัพท์แปลกๆยากๆ...อาจจะมีผลมาจากตรงนั้นบ้าง ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อลูก
ไว้มาต่อเรื่องเทคนิคการสอนเขียนในเด็กเล็กนะคะ คิดว่า ครูมีเทคนิคที่น่าสนใจทีเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น