โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 28 เมษายน 2553
เชื่อว่าเด็กๆ แทบทุกคนจะต้องเคยผ่านการเล่น "พับกระดาษ" กันมาบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นการพับแบบง่ายๆ ที่ได้วิชามาจากโรงเรียนบ้าง คุณพ่อคุณแม่สอนบ้าง ส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นเครื่องบิน นก เต่า กบ เป็นหลัก แต่ปัจจุบันการพับกระดาษเป็นรูปต่างๆ มีความซับซ้อน และแบบแผนมากขึ้น ส่วนหนึ่งด้วยเพราะไทยรับเอาศิลปะการพับกระดาษจากดินแดนซากุระที่มีชื่อ เรียกเฉพาะตัวว่า "โอริงามิ" (Origami) เข้ามาและนำมาผสมผสานจนกลายเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่งซึ่งน่าสนใจไม่น้อย และมีพ่อแม่บางครอบครัวนำศิลปะดังกล่าวมาเป็นกิจกรรมในครอบครัว
"ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ" นักวิชาการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์การพับกระดาษโอริงามิ อธิบายว่า "โอริงามิ" เป็นชื่อญี่ปุ่นเรียกถึงการพับกระดาษในรูปแบบต่างๆ มีจุดกำเนิดในญี่ปุ่นเมื่อ 50 ปีก่อน เป็นกิจกรรมยามว่าง และศิลปะที่เป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ที่สมัยก่อนจะนิยมพับกระดาษ เพื่อนำไปประดับตกแต่งในพิธีกรรมทางศาสนา จนกลายเป็นกิจกรรมของคนทั่วไป และโด่งดังระดับโลก
อย่างไรดี มีข้อสันนิษฐานกันว่า เกิดขึ้นในจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ขยายตัวมายังเกาะญี่ปุ่น และเกาหลีในกลุ่มชนชั้นสูง รวมถึงซามูไร จนกระทั่งปรมาจารย์ชาวญี่ปุ่นชื่อ “อาริกะ โยชิซาวะ” ออกมาโชว์ผลงานที่แหวกแนวคลาสสิก และทำให้นักพับกระดาษในญี่ปุ่น และนักพับกระดาษทั่วโลกเริ่มรู้ว่าการพับกระดาษเป็นอะไรได้มากกว่าการพับนก
สำหรับไทย เมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมา การพับถุงใส่กล้วยแขก ถือเป็นจุดเริ่มต้นการพับกระดาษของไทย จากนั้น 20 ปีต่อมา มีองค์กรญี่ปุ่น (Japan Foundation) เข้ามาเผยแพร่วัฒนธรรมญี่ปุ่นในไทย โดยส่งวิทยากรมาสอนพับกระดาษ ทำให้เกิดนักพับกระดาษไทยรุ่นใหม่ และมีการก่อตั้งชมรมนักพับกระดาษไทย จนได้รับความนิยมในไทยเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา
"โอริงามิไม่ใช่แค่การพับเล่นๆ หรือเป็นงานศิลปะเท่านั้น แต่สามารถเปลี่ยนกระดาษ 1 แผ่นธรรมดา ออกแบบการพับให้แยบยลกลายเป็นรูปร่าง 3 มิติที่ใช้เป็นทั้งของเล่น สื่อการเรียนการสอนในวิชาต่างๆ รวม ทั้งนำไปใช้จำลองนวัตกรรมของแผงพลังงานโซล่าเซลล์ที่ใช้ในอวกาศ โดยญี่ปุ่นนำมาใช้เพื่อประหยัดพื้นที่การบรรจุในจรวด สำหรับการส่งออกไปนอกโลก
นอกจากนี้ ยังนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในรายวิชาต่าง ๆ เช่น คณิตศาสตร์ สามารถใช้สอนเรื่องสมมาตร รูปร่างรูปทรงเรขาคณิต วิทยาศาสตร์ใช้เป็นสื่อการสอนเรื่องโครงสร้าง แบบจำลอง ส่วนวิชาศิลปะใช้สอนเรื่องการออกแบบรูปร่าง และผลงานที่มีความสวยงาม หรือแม้แต่วิชาอื่นก็ทำได้ ถือเป็นการเชื่อมโยงจินตนาการ และเหตุผลเข้า ด้วยกันได้เป็นอย่างดี
"มีครูอนุบาลที่จังหวัดเชียงใหม่ใช้การพับ กระดาษแบบโอริงามิ พับเป็นรูปปากที่สามารถขยับได้ ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในการอ่านออกเสียงวิชาภาษาไทย ดึงใจให้เด็กนักเรียนสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับการเรียน และตั้งใจเรียนหนังสือมากขึ้น ในต่างประเทศได้นำโอริงามิไปรักษาเด็กสมาธิสั้น (ไฮเปอร์) และบำบัดร่างกายให้กับเด็กออทิสติก เพื่อช่วยให้เกิดการขยับกล้ามเนื้อ การสื่อสารกับคนรอบข้าง ที่สำคัญคือ การมีสมาธิที่แน่วแน่" ดร.บัญชากล่าว
อย่างไรก็ดี ดร.บัญชา สะท้อนให้ฟังถึงการใช้ประโยชน์จากโอริงามิกับเด็กยุคใหม่ว่า เด็กอายุ 6-10 ขวบขึ้นไป จะเริ่มติดเกม พ่อแม่ส่งเสริมให้ลูกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ทั้งเรียนพิเศษ เดินห้างสรรพสินค้า แต่ศิลปะการพับกระดาษแบบโอริงามิ เป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา โดยเฉพาะกิจกรรมที่ทำร่วมกันที่บ้าน อีกทั้งมีต้นทุนต่ำ แต่สิ่งที่ทุกคนในครอบครัวจะได้รับอย่างมาก คือ การได้ร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน การได้พูดคุยกัน การฝึกให้ลูกคิดสร้างสรรค์
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเด็กเล็ก จะช่วยในเรื่องของการฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรง รวมทั้งเป็นการพับที่ต้องเกิดจากการสั่งงานของสมองทั้งสองซีก ให้ทำงานไปพร้อม ๆ กัน ขณะที่มือกำลังพับกระดาษระบบสมองก็มีการคิดตามอย่างเป็นระบบ โดยที่ไม่ต้องให้ลูกไปเรียนพิเศษ หรือทำกิจกรรมที่เคร่งเครียดจนเกินไป
3 ความคิดเห็น:
ด้าน "ฤทัย จงสฤษดิ์" หรือ "แม่จุ๋ม" คุณแม่ลูกหนึ่ง ที่ใช้ศิลปะการพับกระดาษแบบโอริงามิ เป็นกิจกรรมยามว่าง เล่าว่า ปกติที่บ้านจะเล่นพับกระดาษแบบโอริงามิ เป็นกิจกรรมที่ทำประจำกับลูกชาย เพราะเชื่อว่า การเล่นกับลูกเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เป็นการใช้เวลาอยู่ร่วมกัน อีกทั้งฝึกให้ลูกฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือ และสมอง
สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกเล็กๆ "แม่จุ๋ม" บอกว่า ไม่จำเป็นต้องให้ลูกพับเป็นรูปร่างที่สวยงาม แต่ให้เขาพับกระดาษให้เท่ากันก่อน แค่นี้ลูกก็จะได้ใช้สมาธิในการทำแล้ว ซึ่งการพับกระดาษในตอนแรกไม่ต้องใช้กระดาษที่มีสีสันก็ได้ อาจจะใช้กระดาษที่เหลือใช้มาพับ เป็นการลดการใช้กระดาษ อีกทั้งได้ของเล่นที่มาจากของที่ใครหลายคนคิดว่าไม่มีค่า แต่ถ้ามันเป็นฝีมือของเรา จะทำให้เกิดความภูมิใจมากขึ้น
"เริ่มพับกระดาษกับลูกตั้งแต่ลูก 8 ขวบ ตอนนี้ผ่านมาเกือบ 1 ปีแล้ว โดยดูตัวอย่างการพับในอินเตอร์เน็ต ตอนแรกให้ลูกพับกระดาษให้เรียบ และเท่ากัน เขาก็ยังไม่เกิดความสนุกหรือตื่นเต้นอะไร แต่ลูกได้ฝึกการใช้มือหยิบจับสิ่งต่างๆ จะส่งผลต่อการพัฒนาการทางสมองทำให้เขาทำงานได้คล่องแคล่ว ใจเย็น และมีสมาธิมากขึ้น พอเขาบอกว่าอยากพับแบบนี้ ก็จะให้เลือกว่า อยากพับอะไร เช่น อยากพับไดโนเสาร์ ก็จะไปหาวิธีการพับมาเล่นกับเขา เกิดเป็นสังคมของการพูดคุยในครอบครัว ซึ่งมันดีกว่าให้ลูกเล่นเกมคอมพิวเตอร์หรือนั่งดูโทรทัศน์" แม่จุ๋มเผย
นอกจากนี้ แม่จุ๋ม อธิบายต่อว่า การทำของเล่นขึ้นเอง หรือการเล่นกับลูก เป็นการสอนลูกเกี่ยวกับการนำของที่เหลือใช้มาทำเป็นของที่มีคุณค่าทางจิตใจ ซึ่งมันต่างกับของเล่นที่มีราคาแพงสำเร็จรูป ซื้อมา ลูกก็เล่นได้เลย โดยที่ไม่ต้องมาเริ่มทำ หรือประดิษฐ์ให้ลำบาก แต่ของเล่นที่ลูกทำขึ้นเองนั้น จะเป็นของที่ทีค่า และภาคภูมิใจอย่างแน่นอน เพราะว่ามันเกิดจากความตั้งใจ และความอดทนของลูก ทำให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องทักษะ วิธีการ และการคิดอย่างสร้างสรรค์
ดร.บัญชา ทิ้งท้ายด้วยการแนะนำเทคนิคสำหรับผู้ที่เริ่มจะสนใจพับกระดาษแบบโอริงามิว่า การเริ่มต้นพับกระดาษแบบโอริงามิ สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยเริ่มจากการพับตามรูปแบบที่กำหนดก่อน บางคนเริ่มพับจากรูปแบบที่ยาก ซับซ้อน สุดท้ายลงเอยด้วยการขยำกระดาษแผ่นนั้นทิ้ง การพับกระดาษแบบโอริงามิ ไม่จำเป็นต้องรีบ ค่อย ๆ พับไปทีละขั้นตอน และควรเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองสนใจ โดยต้องคำนึงเสมอว่าต้องไม่ยากเกินไป จากนั้นการพับจะเข้าไปสู่การออกแบบด้วยจินตนาการที่อยู่ในตัวของเราเอง
ครอบครัวที่สนใจการพับกระดาษแบบโอริงามิ เข้าไปศึกษาข้อมูล และรายละเอียดต่างๆ ได้ที่ โอริงามิ รวบรวมเรื่องราว และวิธีการพับไว้หลากหลาย
http://portal.in.th/origami/pages/first-page/
ขอเอาไปแชร์ต่อค่ะ บทความน่าสนใจมากค่ะ ^ _ ^
แสดงความคิดเห็น