วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

กิจกรรมการสอนแบบมอนเตสเซอรี่ปฐมวัย

อ่านเจอจากบทความค่ะ น่าสนใจดี แต่ขออนุญาตตัดเรื่องชื่อโรงเรียนนะคะเพราะไม่อยากให้เป็นการประชาสัมพันธ์ ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วโรงเรียนดีอย่างในบทความหรือเปล่า แต่วิธีการใช้เป็นแนวทางสอนลูกได้ค่ะ

3 ความคิดเห็น:

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

เด็กปฐมวัยพัฒนาได้แม้ไม่ "คัด"

โรงเรียน แห่งนี้ยังเป็นแห่งหนึ่งที่ร่วมยืนยันเป็นเสียงเดียวกับอีกหลาย ๆ โรงเรียนว่า การจับเด็กมานั่งคัดไทย ลากเส้นประตัวอักษร ท่อง ก.ไก่ - ฮ. นกฮูก ไม่ใช่สิ่งที่คุณครูคาดหวังจะฝึกให้กับเด็ก ๆ หากแต่เป็นการฝึกไปตามขั้นของพัฒนาการ นั่นก็คือ "ฟัง พูด อ่าน เขียน"

" การฝึกพื้นฐานของเด็กในช่วงแรกจะเริ่มจากการฟังก่อน ให้เด็กฟังให้มากที่สุด ฟังเสียงธรรมชาติ เสียงไก่ขัน เสียงดนตรี หรือการออกเสียงพยัญชนะ เขาจะรู้จักเสียง กอ (ก.ไก่) เสียง จอ (จ.จาน) แล้วเขาก็จะเริ่มพูดตาม ภาษาอังกฤษก็เหมือนกัน เราไม่เรียนภาษาอังกฤษโดยให้เด็กท่อง A-Z แต่เริ่มเรียนตามเสียง เช่น เสียงเพอะ (p) เสียงเทอะ (t) หรือเสียงอึม (m) อย่างเราออกเสียงคำว่า Ham เด็กก็จะทราบว่ามีเสียง "อึม" (m) ต่อท้าย"

พร้อมกันนั้น คุณครูแมมยังได้กล่าวถึงการศึกษาในอดีตของไทยด้วยว่า เป็นการเรียนแบบย้อนศร ให้เด็กเขียนก่อน อ่านทีหลัง เด็กเล็ก ๆ บางคนกล้ามเนื้อยังไม่พร้อม แต่ต้องมานั่งเกร็งมือเพื่อคัด ก - ฮ ให้ได้ตามเส้นประ การเรียนรู้ก็ไม่มีประสิทธิภาพ แท้จริงแล้วครูควรฝึกพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อไปก่อน เช่น ให้ปั้นแป้งเป็นรูปต่าง ๆ รินน้ำใส่แก้ว เล่นลูกบอล เมื่อเด็กพร้อม เขาจะไปได้เอง

"ของแบบนี้อย่าไปเร่งเขา เมื่อเด็กพร้อม ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา เขาจะไปได้เอง และไปได้เร็วเหมือนติดจรวดเลย แต่ก็มีผู้ปกครองบางกลุ่มผิดหวังที่ให้ลูกมาเรียนแล้วลูกยังเขียน ก - ฮ ไม่ได้ ซึ่งต้องบอกว่าการเขียนสวย เขียนได้ ไม่ใช่เป้าหมายของเรา เป้าหมายของเราคือให้เขียนเมื่อพร้อม และเด็กจะเขียนอย่างถูกทิศทาง มีน้ำหนักชัดเจน"

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

อุปกรณ์การสอนสไตล์มอนเตสซอรี่

หันมาดูตัวช่วยหลักในการเรียนการสอนแนวมอนเตสซอรี่ของโรงเรียนแห่ง นี้กันบ้าง นั่นก็คือ เครื่องไม้เครื่องมือนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นแผ่นไม้กระดาษทราย สำหรับให้เด็กเอาไว้ลูบฝึกประสาทสัมผัส, แท่งไม้ขนาดพอดีมือเด็ก ๆ วางคละไซส์ในกล่อง สำหรับฝึกให้เด็กสามารถแยกแยะความแตกต่างด้านความสูง, โซ่ 1000 ที่เกิดจากการนำลูกปัดมาร้อยเข้าด้วยกันสำหรับใช้ฝึกคณิตศาสตร์ ฯลฯ

"นึกภาพการเรียนคณิตศาสตร์บนกระดานดำ มีตัวเลขเป็นพืด กับการเรียนคณิตศาสตร์แบบมีอุปกรณ์สีสันสดใส แบบไหนน่าสนุกกว่ากัน ถ้าเราอยากให้เด็กรักตัวเลข ก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้สนุกกับตัวเลข จะให้เด็กนับ 1 ถึง 1000 ได้อย่างไรให้เขาเข้าใจในภาพรวม" ครูแมมเล่า ก่อนจะหยิบโซ่ 1000 ที่ประดิษฐ์จากลวดเส้นเล็ก ๆ นำลูกปัดมาร้อยเรียงจึงถูกประดิษฐ์ขึ้นมาโดยฝีมือคุณครูในโรงเรียนขึ้นมาให้ ดู นอกจากนั้นก็ยังมีตู้ไม้บานใหญ่ ภายในมีแผ่นไม้พร้อมตัวเลขตั้งแต่หน่วย สิบ ร้อย พัน เอาไว้ทำกิจกรรมสนุก ๆ ระหว่างครูกับนักเรียน เช่น คุณครูให้เด็กนำเงินไปฝากธนาคารจำนวน 9,652 บาท เด็กก็ต้องไปหยิบแผ่นไม้ให้ได้ตามจำนวนที่ระบุไว้เพื่อนำ ไปฝากธนาคาร (คุณครู)

และด้วยการเรียนการสอนที่ไม่เน้นการนั่งคัดตัวบรรจงของพยัญชนะจำเป็น ต้องมีอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ เข้ามาแทนที่สมุดคัดลายมือ ซึ่งที่นี่เลือกใช้ ถาดข้าวสาร กระดาษทราย หรือวัสดุแปลก ๆ อื่น ๆ เพื่อให้เด็กได้ฝึกเขียนพร้อม ๆ กับฝึกประสาทสัมผัสโดยที่ไม่มีข้อจำกัดในด้านพื้นที่ หรือลายเส้นที่ให้เด็กลากตามด้วย

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

กิจกรรมวันทำงานจาก 8.00 - 15.30 น.

กิจวัตรยามเช้าของเด็กอ. 1 - 3 ณ โรงเรียนแห่งนี้ เริ่มต้นหลังจากเข้าแถวเคารพธงชาติเรียบร้อยแล้ว (ประมาณ 8.30 น.) เมื่อเดินเข้ามาในชั้นเรียนก็จะนั่งกันเป็นรูปตัว U โดยมีคุณครูนั่งตรงกลาง เปิดการสนทนาด้วยการทักทาย มีเรื่องน่าสนใจมาแจ้งให้ทราบ จากนั้นจะมีการขอบคุณพระเจ้า ต่อด้วยการสอนบุคลิกภาพให้เด็ก ๆ เช่น นำเสนอจากนิทาน หรือจากพระคัมภีร์ ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน เช่น มีเด็กดีมาช่วยคุณครูถือของ ก็นำเรื่องของเด็กดีคนนี้ไปชมให้เด็กคนอื่น ๆ ได้ฟัง ซึ่งครูแมมบอกว่า วิธีดังกล่าวเป็นกุศโลบายในการสอนเด็กที่ใช้ได้ผลดีมากวิธีหนึ่ง

จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงกิจกรรมเลือกเสรี เด็กสามารถทำอะไรก็ได้ที่ชอบ โดยจะมีเครื่องมือต่าง ๆ วางให้เลือกอยู่มากมาย เด็กก็จะไปหยิบอุปกรณ์ที่ตนเองต้องการทำ มาทำจนสำเร็จ ซึ่งช่วงนี้กินเวลานานประมาณ50 นาที จากนั้นก็จะกลับมารวมกลุ่มกันอีกครั้งในรูปตัว U เพื่อร้องเพลง หรือเรียนในวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตร ก่อนจะกลับเข้าสู่ช่วงของการเลือกเสรีอีกครั้งเพื่อให้เด็กทำกิจกรรมที่ตน เองสนใจต่อจนถึงช่วงพักเที่ยง

เมื่อถึงเวลาของมื้อกลางวัน เนื่องจากพื้นที่โรงเรียนไม่ใหญ่มากนัก จึงต้องแบ่งเด็กออกเป็นสองกลุ่ม ให้น้องเล็กได้ทานก่อน แล้วพี่ใหญ่ (อนุบาล 3) ค่อยตามมา หลังจากทานข้าวกลางวันเสร็จก็จะไปแปรงฟัน บ้วนปาก แล้วจึงมาปูฟูกนอนกลางวันสะสมพลังกันใหม่

ประมาณ 14.00 น. ก็ได้ฤกษ์ที่เด็ก ๆ จะต้องตื่นมาล้างหน้าล้างตา ดื่มนม แล้วจึงหยิบหวีมารอให้คุณครูหวีผมให้ ก่อนจะจากกันด้วยการกอดลาของคุณครูกับเด็ก ๆ และกลับบ้านไปกับคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งคุณครูแมมเล่าว่า ในอดีต เด็ก ๆ จะไม่กล้าให้กอด เพราะพ่อแม่ก็ไม่เคยกอดเขาเหมือนกัน เด็กบางคนวิ่งหนีคุณครูไปเลยก็มี แต่เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ กลับโผเข้ากอดคุณครูอย่างไม่เคอะเขิน

" การศึกษาของเราก็เหมือนรากที่อยู่ใต้ดิน มองไม่ค่อยเห็น ไม่ใช่มาถึงปุ๊บก็คัด ก - ฮ ได้ ถ้าผู้ปกครองกลุ่มที่มุ่งให้เด็กอ่านออกเขียนได้พาลูกมาอยู่กับเรา รับรองว่าเขาจะผิดหวัง แต่ถ้าเราให้ความสำคัญกับการวางรากฐาน ฝึกบุคลิกเขา รู้จักควบคุมตนเอง มีความมั่นใจที่จะแสดงออก มีระเบียบ วินัย การฝึกแบบนี้เท่ากับเรากำลังดูแลรากชีวิตของเขา เมื่อโตขึ้นผลก็งดงาม"